posttoday

อินโดรามา จอมเทกโอเวอร์ ทำดีลประวัติศาสตร์ 6.2 หมื่นล้าน

08 สิงหาคม 2562

ซื้อกิจการ Huntsman บริษัทระดับโลกจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก

คอร์ปอเรต โฟกัส

เรื่องโดย พูลศรี เจริญ

.............................

ซื้อกิจการ Huntsman บริษัทระดับโลกจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก 

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้ฉายาว่าเป็น"จอมเทกโอเวอร์" หรือนักซื้อกิจการ อาจกล่าวได้ว่าบริษัทแห่งนี้มีความแน่วแน่กับการเดินตามกลยุทธ์ซื้อกิจการเพื่อโตทางลัดโดยไม่มีสะดุด หรือเปลี่ยนแผน

ในปี 2561 ที่ผ่านมา อินโดรามา ซื้อกิจการเป็นว่าเล่น จนผงาดเป็นบริษัทปิโตรเคมีระดับโลก ปัจจุบันมีโรงงานผลิตครอบคลุมภูมิภาคหลักทั่วโลก ได้แก่ แอฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยมีกลุ่มธุรกิจหลักประกอบด้วย ธุรกิจ Integrated PET ธุรกิจโอเลฟินส์ ธุรกิจเส้นใย ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ 

ผลิตภัณฑ์ของอินโดรามา รองรับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลส่วนบุคคล และอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางในรถยนต์และผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย

ล่าสุด (8 ส.ค.62) อินโดรามา แจ้งว่าได้ทำดีลประวัติศาสตร์ด้วยการซื้อบริษัทระดับโลก โดยนายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโดรามา เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าซื้อกิจการ Huntsman ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มูลค่ารวม 2,076 ล้านดอลลาร์

มูลค่าของการเข้าซื้อกิจการ/สินทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากมูลค่ากิจการเท่ากับ 2,000 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 61,960 ล้านบาท) โดยบริษัทจะชำระเป็นเงินสดทั้งหมดและรับภาระผูกพันในเงินบำนาญเป็นเงิน 76 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 2,354 ล้านบาท)

อินโดรามา จอมเทกโอเวอร์ ทำดีลประวัติศาสตร์ 6.2 หมื่นล้าน

สำหรับ Huntsman เป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจออกไซด์ แบบบูรณาการและอนุพันธ์เอทิลีนออกไซต์ ที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่และมีการลงทุนบริเวณพื้นที่ชายฝั่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในประเทศอินเดียและออสเตรเลีย ซึ่งนายอาลก กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ของอินโดรามา จะช่วยส่งเสริมกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจออกไซต์แบบบูรณาการและธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษของอินโดรามาให้แข็งแกร่ง 

นอกจากนี้ ทำให้ขยายขอบเขตความเชี่ยวชาญของอินโดรามา ในด้านการดำเนินธุรกิจออกไซด์แบบบูรณาการบริเวณพื้นที่ชายฝั่งสหรัฐอเมริกา ผ่านความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ขนาดธุรกิจระดับโลก ตลอดจนการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจและเทคโนโลยี

นายอาลก กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรหลักก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (core EBITDA)ของบริษัทในปี 2561 ในอัตรา 25% และยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ในอัตรา 23% ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับ Huntsman เป็นผู้นำในธุรกริจเอทิลีนออกไซต์และอนุพันธ์โพรพิลีนออกไซด์ มีรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์ และมีอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA margin) อยู่ที่ 18 %ในปี 2561 

การทำดีลประวัติศาสตร์ของอินโดรามา ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดอยู่แค่นี้ โดยอาลกกล่าวว่า  บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 2562-2566) อยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้หากมีดีลซื้อกิจการที่น่าสนใจ บริษัทยังมีความสามารถพร้อมลงทุน โดยมีงบลงทุนอีกราว 2,500 ล้านดอลลาร์

มาที่ด้านการเติบโตของกำไรหลักก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้  ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Core EBITDA) ในช่วง 5 ปี (ปี 2562-2566) อินโดรามา ตั้งเป้าเติบโตเท่าตัวเป็นประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ จาก 1,440 ล้านดอลลาร์ ในปี 2561 โดยในปี 2562 คาดว่า Core EBITDA จะอยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้นหลังรับรู้รายได้กิจการ Hunstman

"การซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนบริษัทสู่เป้าหมายการเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลกที่มีความหลากหลายและมีรายได้จากหลายกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน" นายอาลก กล่าว

โดยการเข้าซื้อกิจการ Huntsman ในครั้งนี้คาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 4/62 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2563 ขณะที่บริษัทจะกู้จากสถาบันการเงินแห่งเดียวจำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในการซื้อกิจการครั้งนี้ และเงินทุนจากกระแสเงินสดโดยไม่มีแผนจะเพิ่มทุนแต่อย่างใด

นายอาลก กล่าวว่า ธุรกิจที่เข้าซื้อเป็นธุรกิจที่ทำกำไร มีการเติบโต และโดดเด่นแตกต่างจากธุรกิจโอเลฟินส์อื่นๆในอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าซื้อต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับต้นทุนการสร้างโรงงานใหม่ จึงถือว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการที่เปลี่ยนเกมธุรกิจของอินโดรามา และเป็นการเข้าซื้อกิจการที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท อีกทั้งเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการโดยบริษัทไทยที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

"การลงทุนครั้งนี้ทำให้ผลกำไรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มประกอบการเต็มรูปแบบ และผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันจะช่วยเพิ่ม EBITDA จากสินทรัพย์เหล่านี้ปีละ 100 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2565 ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้ Core EBITDA ของบริษัทเสมือนเพิ่มขึ้น 25% ในปี 2561"ซีอีโอ อินโดรามา กล่าว

ในขณะเดียวกันอินโดรามา แทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เพราะรูปแบบธุรกิจมีการกระจายฐานการผลิตทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศนั้นๆ คิดเป็นสัดส่วน 90% ส่วนอีก 10% ที่เป็นการส่งออก นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวบริษัทก็ไม่ได้กังวลเพราะสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน

ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 ของอินโดรามาลดลงอย่างมาก โดยมีกำไรสุทธิ 2,267.11 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8,242.69 ล้านบาท หรือลดลงถึง 72.49 % ขณะที่มีรายได้รวม 9.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14 %

บริษัทระบุว่าสาเหตุที่ทำให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ลดลงเนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนสต็อก ซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการลงบัญชีตามราคาตลาด ขณะที่บริษัทสามารถมีการเติบโตของ Core EBITDA ต่อเนื่องที่ทำให้กระแสเงินสดของบริษัทแข็งแรง

ข้อมูลการเงิน อินโดรามา

- ณ วันที่ 7 ส.ค.2562 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป 2.14 แสนล้านบาท

- ทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 5,614.55 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 1.00 บาท/หุ้น

-ปี 2561 รายได้รวม 3.5 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท

- ปี 2560 รายได้รวม 2.9 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 2.1 หมื่นล้านบาท

- ปี 2559 รายได้รวม 2.6 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท