posttoday

ตลาดแกว่งไปตามทรัมป์กับพาวเวลล์

06 สิงหาคม 2562

บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

เรื่อง ตลาดแกว่งไปตามทรัมป์กับพาวเวลล์

โดย ดร.สมชัย อมรธรรม

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

..............................................................

“สงครามการค้า” ถือเป็นประเด็นกดดันเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในปีนี้ ตกลงว่าจะเจรจาหรือไม่เจรจา จะขึ้นภาษีหรือไม่ขึ้นภาษี เรื่องราววนเวียนงงงวยอยู่เช่นนี้มาตลอดทั้งปี แต่ท่ามกลางความงงงวยนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ปรับภาษีขึ้นใส่กันมาเรื่อยๆ เหล่านักวิเคราะห์ก็ทยอยปรับลดประมาณการกันไป

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็เพิ่งปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงอีกเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ แต่ไม่ทันไร ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก็ “ขู่” ว่าจะขึ้นภาษีอีก 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลือทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าอีก 3 แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สงสัยจะได้เห็นการปรับลดประมาณการลงอีกระลอกหนึ่ง

แต่ท่ามกลางความงงงวยที่เกิดนั้น ตลาดการเงินก็ปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่ผ่านมาในปีนี้ถือว่าดีเลยทีเดียว นำโดยตลาดสหรัฐฯ ที่โดดเด่น ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นประมาณ 17% ในปีนี้ (เคยขึ้นไปกว่า 20% ก่อนเจออิทธฤทธิ์ล่าสุดของทรัมป์) ส่วนตลาดหุ้นไทยเองก็ไม่ได้ขี้เหร่แต่อย่างใด แถมถ้าดูสไตล์การลงทุน ดัชนี MSCI Growth ก็ยังชนะดัชนี MSCI Value ไปอีกกว่า 10% เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงเท่าใดนัก

ประเด็นคือ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี นโยบายการเงิน-การคลัง ก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยพยุง โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ นำโดยประธาน พาวเวลล์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันสภาพคล่อง ความเชื่อมั่น และทิศทางการลงทุนในปีนี้ จากเดิมที่เฟดบอกว่าปีนี้จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง กลายเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงไปในช่วงไม่กี่เดือนถัดมา (เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป เฟดเดิมเองก็คงไม่ได้คิดว่า “สงครามการค้า” จะรุนแรงขึ้น)

แม้ว่าหลังการประชุมเฟดที่ผ่านมา ประธานพาวเวลล์ จะส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะไม่ลดดอกเบี้ยอีก แต่การที่ทรัมป์ “ขู่” ว่าจะขึ้นภาษีล่าสุด ย่อมกดดันประธานพาวเวล์ ให้กลับลำได้ และดูเหมือน “ตลาด” จะค่อยๆ เพิ่มความคาดหวังต่อเฟดมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด Futures สะท้อนว่า “ตลาด” มองโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. นี้เป็น 100% ไปแล้ว

ไม่เพียงแค่เฟดเท่านั้น ท่าทีของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ก็ผ่อนคลายขึ้นมาก จากอีซีบีที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้บ้าง กลายเป็นต้องคงดอกเบี้ยในระดับต่ำไปอีกนาน บางคนอาจมองไปถึงการนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

ผู้นำทัพคนใหม่ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงหัวเรือใหญ่ไอเอ็มเอฟ ก็มีแนวคิดไปทาง “พิราบ” ไม่แพ้ประธานอีซีบี คนปัจจุบันเลยทีเดียว ส่วนบีโอเจ ก็ยังเดินหน้าทำมาตรการคิวอี อย่างต่อเนื่อง แถมถ้านายกฯ อาเบะ เปลี่ยนใจไม่ขึ้นภาษี ที่มีเป้าหมายเพื่อ “พยายาม” รักษาวินัยทางการคลัง ก็จะดูประหนึ่งว่าบีโอเจ จะเปิดหน้า “พิมพ์” เงินเพื่อให้รัฐบาลเอาไปใช้จ่ายกันเลย

ทั้งนี้ เราไม่ได้หมายความว่า การใช้มาตรการผ่อนคลายของธนาคารกลางต่างๆ จะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นในทันที หรือปัจจัยพื้นฐานจะดีขึ้นทันตา จริงๆ แล้วเรายังอาจจะยังเห็นผลกระทบของภาษีที่ขึ้นไปแล้วไม่ครบทั้งหมด แรงกระเพื่อมจากก้อนหินที่ตกลงในบ่อน้ำที่เคยเงียบสงบยังเพิ่งจะเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่นับกับหินก้อนใหม่ๆ ที่อาจจะตกมาเพิ่มเติม (หรืออาจจะไม่มีก็ได้)

แต่หากเราเชื่อมั่นในการปรับตัวเข้าสู่ “ดุลยภาพ” ของเศรษฐกิจ สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ มีผู้ได้ประโยชน์ มีผู้เสียประโยชน์ ตามกติกาที่เปลี่ยนไป ซึ่งนั่นย่อมสร้างโอกาสในการลงทุนในระยะถัดไปด้วย

จึงยังต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ทิศทางตลาดจะไปทางใด จักรวาลการลงทุนเป็นอย่างไร จะได้รับผลกระทบจาก แรงโทสะของ ทรัมป์(นอส) หรือพลังหนุนจาก (กัปตัน)พาวเวลล์ มากกว่ากัน เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่บทสรุปที่ชัดเจนคือ ปีนี้ผันผวนแน่นอน

การรับมือกับภาวะตลาดที่ผันผวน ย่อมไม่ใช่การถอยเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยทั้งหมด แต่นักลงทุนจำเป็นต้องมีการจัดพอร์ตการลงทุนนั้นให้เหมาะสม โดยพอร์ตนั้นจะมีหน้าตาแบบใด หนักไปทางปลอดภัย หรือว่าจะยังคง “บู๊” ต่อไปดี เราคิดว่าในระยะสั้นๆ ข่าวทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีอาจกดดันตลาดได้ โดยเฉพาะเมื่อผลตอบแทนการลงทุนค่อนข้างดีในปีนี้ แต่ก็น่าจะเป็นจังหวะให้นักลงทุนทยอยสะสมสินทรัพย์เสี่ยงได้เหมือนกัน

สำหรับนักลงทุนที่ไม่สะดวกติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ก็อาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อให้ผู้จัดการกองทุนบริหารแทน และในช่วงที่ผ่านมา หลาย บลจ. ก็ออกผลิตภัณฑ์ในลักษณะของการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ตามระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้ แทนที่จะให้ท่านเป็นคนเลือกว่าจะลงกองทุนไหนบ้าง จะมีผู้จัดการกองทุนจะคอยเลือกและปรับน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมท่ามกลางความผันผวนเช่นนี้นะครับ