posttoday

บลจ.บัวหลวง คาด 2 ปี กองทุนอสังหาฯ-รีท-อินฟราฯแตะ 1 ล้านล้าน

12 กรกฎาคม 2562

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง (BBLAM) เปิดเผยว่า การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราฟันด์) เป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงดอกเบี้ยมีทิศทางเป็นขาลง เนื่องจากกองทุนประเภทนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และหุ้นกู้

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง (BBLAM) เปิดเผยว่า การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราฟันด์) เป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงดอกเบี้ยมีทิศทางเป็นขาลง เนื่องจากกองทุนประเภทนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และหุ้นกู้

สำหรับครึ่งปีแรก ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนทั้ง 3 ประเภท ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 22 % ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 12 % สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของกองทุนทั้ง 3 ประเภทอยู่ที่ 6-7% ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการจ่ายเงินปันผลในตลาดหุ้นที่จ่ายประมาณ 3 - 4 % ต่อปี

ขณะที่มูลค่ารวมในอุตสาหกรรมของกองทุนทั้ง 3 ประเภทปี 2561 อยู่ที่ 7 แสนล้านบาท และสิ้นเดือนมิ.ย. 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.7% ของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหุ้นไทย และคาดว่า 1-2 ปีข้างหน้า มูลค่าของกองทุนทั้ง 3 ประเภทแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท จากการเห็นปริมาณกองทุนเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันในอุตสาหกรรมมีกองทุนทั้ง 3 ประเภท คือ กองทุนรวมอสังหาฯ รีท และอินฟราฟันด์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 67 กอง และในช่วงที่เหลือปีนี้จะมีกองทุนออกใหม่ในอุตสาหกรรมอีก 3 กอง

โดย 2 กองจากจำนวนดังกล่าวเป็นของบลจ.บัวหลวง มูลค่ารวมประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) มีขนาดกองทุน 8,150 ล้านบาท แบ่งเป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ให้กับประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) 5,150 ล้านบาท และอีก 3,000 ล้านบาท เป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เปิดจองซื้อวันที่ 22-26 และ 30-31 ก.ค.นี้ คาดว่าอัตราเงินจ่ายให้กับนักลงทุนปีแรกเบื้องต้นอยู่ที่ 7.49 % (เงินปันผลและเงินลดทุน)

อีกกองทุนได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง เค.อี.รีเทล (BKER) ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นไฟล์ลิ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมูลค่ากองทุนประมาณ 11,300 ล้านบาท ด้านอัตราผลตอบแทนขึ้นกับราคาเสนอขาย แต่เบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 6 % ต่อปี หรือ 0.729 บาท/หน่วย คาดว่าเปิดซื้อขายได้ในช่วงไตรมาส 4/62

ปัจจุบันบลจ.บัวหลวง มีกองทุนอสังหาฯ รีท และอินฟราฟันด์ ภายใต้การบริหาร 5 กอง ในจำนวนนี้เป็นกองทุนอสังหาฯ และรีท มูลค่า 1.74 หมื่นล้านบาท ได้แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค(FUTUREPF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) และอินฟราฟันด์ จำนวน 3 กอง มูลค่ารวม 1.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แบ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF)