posttoday

AOTหั่นเป้ารายได้เหลือโต 5 %

31 พฤษภาคม 2562

นักท่องเที่ยวจีนชะลอ-เรือล่มภูเก็ต ทอท.ผลงานพลาดเป้า ก่อนหน้าคาดโต 10 % หวังรัฐบาลใหม่กระตุ้นท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวจีนชะลอ-เรือล่มภูเก็ต ทอท.ผลงานพลาดเป้า ก่อนหน้าคาดโต 10 % หวังรัฐบาลใหม่กระตุ้นท่องเที่ยว

นายพัฒนพงศ์ สุวรรณชาต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน โดยคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตได้ราว 5 % ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10 % เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารขยายตัวได้เพียง 5-6 % จากเดิมคาดไว้ที่ 6-7% โดยได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจากจีนที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบจากสงครามทางการค้า รวมไปถึงเหตุการณ์เรือล่มในภูเก็ตที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค.2561

อย่างไรก็ตาม มาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาลช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวมาชดเชยได้ในระดับหนึ่ง และมองว่าหากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะต้องมีมาตรการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมา น่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในระยะต่อไป

ขณะที่แผนการลงทุน Aisport City At BKK airport ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ บนเนื้อที่ 723 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่สีน้ำเงินเพื่อให้สามารถก่อสร้างเป็นชอปปิ้งมอลล์ได้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ย.นี้

หลังจากนั้นจะเจรจากับพันธมิตร ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจมามากกว่า 4-5 รายให้ได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้ โดย AOT มีหลักเกณฑ์ที่จะถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 49% สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้นจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) มูลค่าโครงการรวม 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี

นายพัฒน์พงศ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าภายใน 2-3 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ Non Aeronautical (Non-Aero)เป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 44% เนื่องจากมองว่าธุรกิจ Non-Aero จะค่อนข้างมีเสถียรภาพ แตกต่างจากธุรกิจ Aero ที่จะต้องขึ้นอยู่กับอัตราของผู้โดยสารเป็นหลัก และมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบได้ง่าย

โดยรายได้หลักของ Non-Aero จะมาจากการสร้างศูนย์ตรวจสอบ และรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,Digital Platform เพื่อบริหารจัดการเรื่องขนคนและขนของ ,Subsidiary Company และAisport City At BKK airport

นอกจากนี้ บริษัทมีโครงการสร้างสนามบินเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ เชียงใหม่ แอร์พอร์ต 2 และภูเก็ต แอร์พอร์ต 2 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัดหาที่ดิน ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการแออัดของผู้โดยสาร อีกทั้งยังเตรียมรับมอบสนามบินในภูมิภาค 4 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน ซึ่งประกอบด้วย อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร สำหรับสนามบินอุดรธานีนั้น ปัจจุบันเป็นท่าอากาศยานที่มีกำไรถึง 44 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงมีแผนนำมาพัฒนาต่อเพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางการบิน (ฮับ) ในภาคอีสาน คาดว่าจะใช้งบทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท