posttoday

รู้จักประเภทนักลงทุนที่เราเป็นเพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า

30 พฤษภาคม 2562

คอลัมน์ Wealth Management

คอลัมน์ Wealth Management

รู้จักประเภทนักลงทุนที่เราเป็นเพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า

โดย...ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร

.........................................

ผมได้มีโอกาสพูดคุยและให้บริการนักลงทุนที่หลากหลายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในบทบาทของผู้จัดการกองทุน นักลงทุนที่ผมพูดคุยด้วยมีทั้งลงทุนเงินส่วนตัวและการลงทุนในฐานะตัวแทนของผู้อื่นอีกที เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการบริหารเงินให้ลูกค้ากลับไม่ใช่การตัดสินใจในการลงทุน แต่กลับเป็นการทำความเข้าใจความคาดหวังและการออกแบบกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมให้ลูกค้า ลงทุนขาดทุนไม่ใช่ประเด็นสำหรับลูกค้าถ้าผลตอบแทนดัง
กล่าวอยู่ในความคาดหวังที่มีตั้งแต่ต้น

เครื่องมือสำคัญอันหนึ่งที่ถูกใช้เสมอในการทำความเข้าใจความต้องการลูกค้า คือ แบบประเมินความเสี่ยง (Risk Profile)ซึ่งเราจะเห็นว่าผู้แนะนำการลงทุน ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์การลงทุนเกือบทุกที่ในประเทศไทยใช้แบบประเมินมาตรฐานที่อนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานาน

แต่ปรากฏว่าช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา การค้นคว้าและวิจัยด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมนักลงทุนได้ก้าวหน้าไปมากจนเป็นสาขาการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเงินที่เป็นที่ยอมรับและมีนักวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขานี้หลายคนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมจึงเริ่มมองเห็นความไม่มีประสิทธิภาพของแบบประเมินความเสี่ยงนักลงทุนมาตราฐานที่ทุกคนใช้กันอยู่และอยากผลักดันให้มีนวัตกรรมใหม่ๆในการประเมินความเสี่ยงนักลงทุน

วันนี้เลยอยากมาเล่ามุมมองใหม่ๆที่งานวิจัยทางจิตวิทยาและพฤติกรรมนักลงทุนมองจากงานวิจัยและงานเขียนของ "ไมเคิล พอมพิเอียน"ในหนังสือ Behavioral Finance and Wealth Management

ซึ่งหนังสือเล่มนี้จริงๆแล้วเขียนในผู้แนะนำการลงทุนใช้ทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อจะสามารถให้บริการได้ดีขึ้น แต่ผมมองว่านักลงทุนเองก็สามารถได้ประโยชน์จากความเข้าใจในจิตวิทยาและพฤติกรรมการลงทุนของตัวเองจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยสร้างประสบการณ์การลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับเราในอนาคต ลองมาดูข้อสรุปของเขากันครับ

พอมพิเอียน แบ่งนักลงทุนเป็น 4 ประเภท ตามความสามารถในการรับความเสี่ยงและความเอนเอียงทางพฤติกรรมดังนี้ ลองมาดูว่าเราใกล้เคียงพฤติกรรมนักลงทุนประเภทไหนกัน

1. นักลงทุนอนุรักษ์เชิงรับ (Passive Preserver)

นักลงทุนกลุ่มนี้โดยมากสามารถ"รับความเสี่ยงการลงทุนได้ต่ำ" เพราะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ เน้นการรักษาความมั่งคั่งที่มี มักได้รับสินทรัพย์จากมรดก หรือมีอาชีพที่มีรายได้สูง ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งจากการนำทุนตนเองไปเสี่ยง นักลงทุนกลุ่มนี้จะค่อนข้างเน้นการดูผลตอบแทนระยะสั้น ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และใช้เวลานานในการตัดสินใจลงทุน ส่วนมากเมื่อนักลงทุนมีอายุมากขึ้นจะค่อยๆมีพฤติกรรมที่กลายเป็นนักลงทุนอนุรักษ์เชิงรับมากขึ้น

ถ้าคุณรู้สึกว่าตนเองเป็นนักลงทุนกลุ่มนี้ ผมแนะนำให้มองหาผู้แนะนำการลงทุนที่มีประสบการณ์ชีวิตและการลงทุนที่สูง สามารถให้ภาพรวมและมุมมองการลงทุนระยะยาวที่ดี มีความเข้าใจและอดทนที่จะคุยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนหลีกเลี่ยงผู้แนะนำที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน หวือหวาหรือใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการลงทุน

2.นักลงทุนผู้ตามที่ดี (Friendly Follower)

นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่ค่อยอยากเข้ามาตัดสินใจอะไรมากๆในการลงทุน มัก"รับความเสี่ยงได้ต่ำถึงปานกลาง" มักจะตามคนรอบข้างในการลงทุนและไม่เชื่อมั่นในความสามารถในการตัดสินใจลงทุนของตนเอง แต่มักจะพยายามหาการลงทุนที่อยู่ในเทรนด์และใหม่เสมอ ๆ และที่สำคัญที่สุด นักลงทุนกลุ่มนี้มักจะลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าที่รับได้จริง ๆ เพราะอยากตามเทรนด์การลงทุนคนรอบข้าง

ถ้าคุณรู้สึกว่าตนเองเป็นนักลงทุนกลุ่มนี้ควรมองหาผู้แนะนำการลงทุนที่เน้นการให้ความรู้ความเข้าใจนักลงทุนอธิบายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างละเอียด แนะนำประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยงที่ดี ไม่โยนการลงทุนก้อนโตตามเทรนด์ที่เห็นในตลาด หลีกเลี่ยงผู้แนะนำที่ชอบขายของหวือหวาแบบลูกค้าอย่าตกขบวน

3.นักลงทุนนักคิดอิสระ (Independent Individualist)

นักลงทุนกลุ่มนี้มีความคิดของตัวเองสูงและจะทำการศึกษาด้วยตนเองก่อนการลงทุน มักสามารถ"รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง" เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตนเองและอาจเปลี่ยนความคิดตนเองยากเมื่อศึกษาและทำความเข้าใจด้วยตนเอง
แล้ว โดยทั่วไปนักลงทุนกลุ่มนี้จะมีผลลัพธ์การลงทุนที่ดีกว่ากลุ่มอื่นแต่ ความมั่นใจในตัวเองที่สูงไปอาจจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดแต่ไม่สามารถปรับกลยุทธ์หรือวิธีการเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าได้ในสภาวะที่ตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การติดตาม
เพื่อหาข้อมูลที่ดีในการตัดสินใจใช้เวลามาก นักลงทุนกลุ่มนี้อาจต้องใช้เวลาศึกษาด้วยตนเองนานจนไม่สามารถตัดสินใจได้ทันเวลา

ถ้าคุณรู้สึกว่าตนเองเป็นนักลงทุนกลุ่มนี้ ควรมองหาผู้แนะนำการลงทุนที่เน้นการให้ข้อมูลและความรู้แก่นักลงทุน ด้วยความสามารถที่นักลงทุนสามารถศึกษาการลงทุนด้วยตนเอง ผู้แนะนำการลงทุนที่ควรมองหาจะต้องมีความรอบรู้และความสามารถที่ดีในการลงทุนถึงจะสามารถช่วยนักลงทุนกลุ่มนี้ได้

4. นักลงทุนเน้นสร้างเชิงรุก (Active Accumulator)

นักลงทุนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการลงทุนที่เป็น"เชิงรุกสูงสุด" มักสร้างความมั่งคั่งบนพื้นฐานของความเสี่ยง มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงทั้งด้านการตัดสินในเรื่องการเงินและเรื่องอื่นๆในชีวิต ตัดสินในเร็ว ไม่ชอบตัดสินใจตามผู้อื่น ตามทฤษฎี หรือตามตำราใดๆ แต่ความสามารถในการตัดสินใจที่เร็วมักนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ขาดข้อมูลและอาจมีผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้

นักลงทุนกลุ่มนี้ค่อนข้างยากที่จะหาผู้แนะนำการลงทุนได้เพราะต้องหาผู้แนะนำการลงทุนที่สามารถแสดงความสามารถจนทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ยอมรับ แต่อย่างน้อยถ้าหาผู้แนะนำที่นักลงทุนเชื่อมั่นไม่ได้ ก็ควรมองหาผู้แนะนำการลงทุนที่เน้นการให้ข้อมูลต่างๆและสามารถนำเสนอข้อมูลอย่างกระชับได้ใจความเพื่อช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ดีขึ้น ผู้แนะนำที่ทำหน้าที่เหมือนผู้ช่วยนักลงทุนที่อดทนและเข้าใจพฤติกรรม เสนอข้อคิดเพื่อการตัดสินใจที่ดีกว่าในจังหวะที่เหมาะสม ยอมให้นักลงทุนลองผิดลองถูกในจำนวนที่ไม่มีผลมากนักในระยะยาว

ก็อย่างที่เล่ามาข้างต้นนะครับ จิตวิทยาและพฤติกรรมนักลงทุนของเราไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้จากคำถาม 10 ข้อที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมทุกวันนี้ เราควรพยายามวิเคราะห์และเข้าใจตัวเราเองก่อน และมองหาผู้แนะนำการลงทุนที่คอยเสริมจุดแข็งลดจุดอ่อนด้านพฤติกรรมที่เรามีเพื่อจะช่วยเราสร้างความสำเร็จระยะยาวในการลงทุนกันครับ