posttoday

เก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ผลกระทบไม่แรง

23 พฤษภาคม 2562

ผู้จัดการกองทุนชี้ พอร์ตที่บลจ.ลงทุนปัจจุบันไม่ต้องเสียภาษี เหตุกฏหมายผ่อนผัน กองทุนตราสารหนี้ ณ เม.ย.มีมูลค่า 2.6 ล้านล้านบาท

ผู้จัดการกองทุนชี้ พอร์ตที่บลจ.ลงทุนปัจจุบันไม่ต้องเสียภาษี เหตุกฏหมายผ่อนผัน พบกองทุนตราสารหนี้ ณ เม.ย.มีมูลค่า 2.6 ล้านล้านบาท

นายกฤษณ์ ณ สงขลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน งานลงทุนในตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กรุงไทย (KTAM)เปิดเผยกรณีการจัดเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาด เนื่องจากกฏหมายผ่อนผันให้ตราสารหนี้ในพอร์ตของกองทุนรวมในปัจจุบัน ไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าจะครบอายุของตราสารหนี้ที่ลงทุน

อย่างไรก็ตาม ถ้าครบ 90 วัน ที่ฏหมายมีผลบังคับใช้ (มีผล 20 ส.ค.2562 ) นักลงทุนก็จะถูกเก็บภาษี ดังนั้นทำให้ประเมินได้ว่าผลกระทบไม่มากอย่างที่คิด แต่จะได้รับผลกระทบไปเรื่อยๆ จนกว่าตลาดจะปรับตัวได้

" การเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ จะกระทบกับรายได้จากดอกเบี้ยส่วนลด ที่ผู้ลงทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15 % ของรายได้ส่วนลด ถ้ามองแต่จุดนี้ผลกระทบจะเยอะ แต่อยากให้มองว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ยังมีกำไรจากส่วนต่างราคา (แคปปิตอล เกน) ที่้เกิดจากการซื้อ-ขายตราสารหนี้ ส่วนซีโร คูปองบอนด์ที่ซื้อ-ขายอยู่ในตลาดรอง จะเสียภาษีเฉพาะคนที่ลงทุนคนแรก "นายกฤษณ์ กล่าว

สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ภายใต้การบริหารของบลจ.กรุงไทย ปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายย่อย ลงทุนในสัดส่วนที่พอ ๆกัน

ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ระบุว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี)อยู่ที่ประมาณ 2.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 5.27 ล้านล้านบาท

นายกฤษณ์ มีคำแนะนำว่า สำหรับผู้ที่จะลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ หลังกฏหมายมีผลบังคับใช้ ไม่อยากให้มองเรื่องภาษีเป็นประเด็นแรกสำหรับการตัดสินใจลงทุน โดยแนะนำให้ผู้ลงทุนมอง 2 เรื่องหลัก คือ 1.วัตถุประสงค์ในการลงทุน และ 2. เรื่องความเสี่ยงที่รับได้

ดังนั้น คำแนะนำการลงทุนให้ใช้วิธีเดิม คือ เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน นั่น คือ เงินฝากธนาคาร และพันธบัตรรัฐบาล และเมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนกับเงินฝากประจำก็จะพบว่า การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้เปรียบ เนื่องจากกองทุนรวมตราสารหนี้ผู้ลงทุนสามารถขายคืนได้ทุกวัน

ทั้งนี้ หมายเหตุในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงมีภาระภาษีที่แตกต่างกับการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม และเพื่อให้ภาระภาษีจากการลงทุน ทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความสอดคล้องกัน สมควรปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายของต่างประเทศ เฉพาะเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้