posttoday

สตรัคเจอร์ฟันด์ โอกาสสร้างผลตอบแทนอ้างอิงตลาดหุ้น

29 เมษายน 2562

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

เรื่อง สตรัคเจอร์ฟันด์ ทางเลือกที่น่าสนใจลงทุน

โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์
............................................................................

การปรับตัวของตลาดหุ้นที่ดีเกินคาดในปีนี้อาจเป็นผลจากปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นค่อนข้างซบเซาเป็นอย่างมาก เนื่องจากโดนพิษจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ผู้วิเคราะห์จากหลากหลายสำนักต่างลงความเห็นว่าเศรษฐกิจในปีนี้ยังคงเติบโตได้ในลักษณะที่ชะลอตัวแต่ไม่ถึงกับหดตัว ซึ่งถ้าสภาพแวดล้อมเป็นไปตามที่คาดนี้ตลาดหุ้นก็น่าจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพตลาดที่ยังเต็มไปด้วยความผันผวน และความไม่แน่นอนจากทั่วทุกมุมโลก นักลงทุนจึงควรเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ด้วยสภาพตลาดแบบนี้อาจยังไม่ง่ายสำหรับการลงทุนจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นนักลงทุนจำนวนไม่น้อยลังเลใจที่จะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง แต่ผมเองกลับมองว่าหากเราไม่รีบลงทุน ก็อาจจะพลาดโอกาสในการทำกำไรได้เช่นกัน

ท่ามกลางความวิตกกังวลของความผันผวนในตลาดแบบนี้ ตลาดการลงทุนยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งน่าจะช่วยตอบโจทย์ และลดผลกระทบจากความเสี่ยงบางประการได้ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจก็คือ กองทุนประเภทสตรัคเจอร์ฟันด์ จากที่เห็นในตลาดส่วนใหญ่จะมีอายุโครงการประมาณ 1 ปีขึ้นไป

จุดเด่นของกองทุนลักษณะนี้คือ คุณสมบัติที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนของเงินต้น เนื่องจากเน้นลงทุนในตราสารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ (อินเวสเมนท์เกรด) ซึ่งมีโอกาสในการผิดชำระหนี้ต่ำ ขณะเดียวกันยังแสวงหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุนผ่านอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนีในตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งผลดีจากการลงทุนแบบนี้ก็คือ หากหุ้นขึ้นกองทุนจะได้ผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้ ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้หุ้นจะปรับตัวลงกองทุนก็ยังไม่ขาดทุน กล่าวง่าย ๆ คือ กองทุนนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนในเงินต้นเต็มจำนวน ผนวกโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่อ้างอิงกับตลาดหุ้นได้ในเวลาเดียวกัน

หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่เราจะไม่ขาดทุนในเมื่อผลตอบแทนนั้นอ้างอิงต่อการปรับตัวของหุ้น คำตอบคือ การเลือกใช้อนุพันธ์สัญญาวอร์แรนต์ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าชนิดหนึ่งที่เข้ามาเป็นตัวช่วยในการลงทุน โดยการทำงานของมันเริ่มจากที่ผู้ซื้อจ่ายเงินล่วงหน้า (Premium) เพื่อซื้อสิทธิ์ในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิงได้ในราคาที่กำหนด (Strike price) และจำนวน (Notional) ที่ตกลงกันไว้

โดยสินทรัพย์อ้างอิงที่นิยมเลือกใช้มักจะเป็นดัชนีในตลาด เช่น ดัชนีหุ้นไทย อย่าง SET Index หรือ ดัชนีหุ้น A – Share อย่าง CSI300 Index ผู้ซื้อสัญญาวอร์แรนต์สามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์การซื้อในวันครบกำหนดสัญญา หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดต่ำกว่าราคาที่ตกลงกันไว้ โดยในกรณีนี้ ผู้ซื้อสิทธิ์ก็จะรับผิดชอบแค่ค่า Premium ที่จ่ายไป

ยกตัวอย่างสำหรับกรณีกองสตรัคเจอร์ฟันด์ กองทุนจะเข้าไปซื้อสิทธิ์ โดยจ่ายราคา (premium) 20,000 บาท สำหรับสิทธิ์ในการซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท (Strike price) จำนวน 2 แสนหุ้น คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท (notional) และจะนำมาประกอบกับส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกประเภทกองทุนลักษณะนี้ว่าสตรัคเจอร์ฟันด์นั่นเอง

เพื่อให้เห็นกลไกของการทำงานของกองทุนประเภทสตรัคเจอร์ฟันด์ ชัดเจนขึ้น ผมขอยกตัวอย่างในการอธิบายดังนี้ครับ

สมมุติกองทุนมีอายุ 1 ปี นาย ก. ลงทุน 1 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน โดยเงินนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจำนวน 970,000 บาทจะนำไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีหลายตัวที่มีโอกาสในการรับดอกเบี้ยประมาณ 3% ต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าเงินต้นนี้จะสามารถเติบโตเป็น 1 ล้านบาท เมื่อครบอายุกองทุน

สำหรับส่วนที่เหลืออีก 30,000 บาท กองทุนจะนำไปจ่ายค่าซื้อสิทธิ์สัญญาวอร์แรนต์ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นที่ notional ประมาณ 1 ล้านบาท การทำแบบนี้จะเสมือนว่ากองทุนมีการลงทุนในหุ้น (exposure) เท่ากับ 100% ของมูลค่ากองทุน

และเมื่อถึงวันที่กองทุนครบอายุโครงการ ถ้าโชคดีว่าดัชนีอ้างอิงขึ้นจาก 10 บาทเป็น 12 บาท กำไรที่จะได้คือ 1.2 ล้านบาท ลบ 1 ล้านบาท = 200,000 บาท เป็นกำไรจากหุ้น โดยหากไม่มีการผิดชำระหนี้ในส่วนของตราสารหนี้ตอนครบอายุกองทุน นักลงทุนจะได้รับเงินคืน 1.2 ล้านบาท แต่ถ้าโชคร้ายดัชนีปรับลดลงจาก 10 บาท เป็น 8 บาท กองทุนก็สามารถที่จะเลือกไม่ใช้สิทธิ์นั้นได้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้รับเฉพาะเงินต้นคืนเต็มจำนวน 1 ล้านบาท โดยไม่ได้รับผลตอบแทนจากหุ้น

มาถึงตรงนี้ นักลงทุนทั้งหลายคงเริ่มเห็นถึงความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ของการลงทุนที่เรียกว่าสตรัคเจอร์ฟันด์ เพราะนอกจากที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการขาดทุนของเงินต้น ยังช่วยแสวงหาผลตอบแทนจากการทำกำไรในหุ้นผ่านสัญญาวอร์แรนต์ แต่อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงตามมาเสมอ

สำหรับการลงทุนในสตรัคเจอร์ฟันด์ มีความเสี่ยงหลักที่เราควรทราบ คือ การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ ดังนั้นการเลือกลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีและกระจายตัวมากพอ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน เพราะหากมีการผิดชำระหนี้เกิดขึ้น ผลกระทบที่จะตามมาคือ ความเสี่ยงต่อการขาดทุนในเงินต้น

พิจารณาดูแล้วการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ก็ยังมีข้อได้เปรียบอยู่มากสำหรับการลงทุนในสภาพตลาดที่ยังเต็มไปด้วยความผันผวนเช่นนี้แต่ก็ถือว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยงอยู่เสมอ เราในฐานะนักลงทุนก็ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ