posttoday

ภารกิจ 4 ปี ‘รพี สุจริตกุล’ วางฐานรากเพื่อตลาดทุนไทย

11 กุมภาพันธ์ 2562

เพียงไม่กี่เดือน รพี สุจริตกุล จะครบวาระ 4 ปี ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เรื่อง ยินดี ฤตวิรุฬห์

เพียงไม่กี่เดือน รพี สุจริตกุล จะครบวาระ 4 ปี ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

“รพี” ถือเป็นอดีตคนของ ก.ล.ต. การกลับเข้ามาเป็นผู้บริหารเบอร์ 1 ครั้งนี้ มีเป้าหมายและโจทย์ชัดเจนจะต้องทำให้ ก.ล.ต.เป็นองค์กรที่คนเก่งและดีอยากเข้ามาทำงานในระดับต้นๆ เพราะ ก.ล.ต.เป็นองค์กรที่มีผู้เกี่ยวข้องมากส่วน ติดต่อกับผู้คนในวงกว้างมากทั้งบริษัทจดทะเบียน นักลงทุนในทุกระดับ ที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวม รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นองค์กรต้องมีคนเก่งเข้ามาร่วมงาน

“วันแรกๆ ที่เข้ามาทำงาน ผมเดินสายพบพนักงานทุกๆ ชั้น เพื่อบอกให้พวกเขาเข้าใจ พยายามใส่ไปใน DNA ของคน ก.ล.ต. คือ ‘เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ และซื่อตรง’ ต้องยอมรับว่าบุคลากรในสายงานกำกับไม่เคยอยู่ในภาคธุรกิจจริง จึงมีจุดอ่อนตรงที่ไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์ที่ออกมาเป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้งานหรือไม่ เกณฑ์เมื่อออกไปปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่เกิดผล ดังนั้นในการดำเนินการใดๆ เราจะต้องมีโจทย์ที่ชัด ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะถูกต้อง”

ผมได้ยกตัวอย่างเพื่อให้พนักงานได้เห็นภาพว่า พวกเราก็เหมือนกับ รปภ.ที่ขับรถไม่เป็น ต้องมาโบกรถในที่จอด แทนที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกกลับจอดได้ยากกว่าเดิม เพราะ รปภ.มายืนขวางทาง ดังนั้นการ “เปิดใจ” ของคน ก.ล.ต.จึงมีความสำคัญ และผมก็ได้จัดให้มี Life Coach อย่างเข้มข้น เพื่อให้พนักงาน ก.ล.ต.มีความเข้าใจตนเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้อื่นด้วยความเข้าใจ เปิดใจกว้างยอมรับในความเป็นจริงของอีกฝั่ง

การวางรากฐานภายใน หากจะวัดว่าสำเร็จหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในระยะยาว แต่เมื่อได้เริ่มก็ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้คนใน ก.ล.ต. ว่ากฎเกณฑ์เข้มงวดทั้งหลายที่ออกมา ทำเพื่ออะไร และมีประโยชน์อะไรต่อกิจการ เพราะเขาเชื่อว่ากฎเกณฑ์ที่เข้มงวดไม่ใช่คำตอบของการกำกับดูแล หากผู้ถูกกำกับไม่ได้ตระหนัก หรือเชื่อว่าการปฏิบัติตามกฎจะส่งผลดีต่อธุรกิจ

"ก.ล.ต.ถือว่าเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างความรวยและความจน การดำเนินการใดๆ ย่อมมีผลกระทบ การทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ซื่อตรง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

สำหรับประเด็นหลักที่ได้ทำมา เช่น Standard Setting กำหนดมาตรฐานสู่ธรรมาภิบาลตลาดทุนที่ยั่งยืน ภาคการเงินไทยเข้าสู่การประเมิน Financial Sector Assessment Program (FSAP) เริ่มประเมินตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 ทราบผลภายในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งการออกกฎเกณฑ์รวมถึงการประกาศแก้เกณฑ์ต่างๆ ของ ก.ล.ต.ที่ผ่านมาก็เพื่อรองรับและทำให้ตลาดทุนไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปกป้องนักลงทุนรายย่อย เช่น เกณฑ์การออกหุ้นเพิ่มทุนให้บุคคลในวงจำกัด (PP) เมื่อก่อนที่มักถูกเจ้าของกิจการเอาเปรียบด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนราคาต่ำให้กับคนกันเอง นำหุ้นเข้ามาขายในกระดาน ขนเงินออกไปเป็นกอบเป็นกำ ปัจจุบันการออกหุ้น PP ราคาต่ำต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นและติดระยะเวลาห้ามขาย หรือเกณฑ์การขายและโฆษณากองทุน รวมถึง Fund Fact Sheet ปกป้องผู้ลงทุนให้มีข้อมูลดูง่ายประกอบการตัดสินใจลงทุน

เรื่องของ Capital Market Accessibility ให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนและลงทุนของคนไทย เช่น การทำโครงการ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน ร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อแนะนำการลงทุนอย่างครบวงจร ผ่านบริการออกแบบการลงทุน 5 ขั้นตอน เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว และโครงการเกษียณด้วยการตั้ง “บริษัทเกษียณสุข” รณรงค์การออมเต็มพิกัดเพื่อความมั่นคงทางการเงิน

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภารกิจที่ ก.ล.ต.ต้องการวางรากฐานเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน