posttoday

โทษทางแพ่งออกฤทธิ์! "กลต."นำเงินส่งคลัง 330 ล้าน

02 มกราคม 2562

ในปี61 การบังคับใช้กฎหมาย "พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 5" ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งของ "ก.ล.ต." ส่งผลให้สามารถนำเงินส่งคลังได้ 330 ล้านบาท

ในปี61 การบังคับใช้กฎหมาย "พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 5" ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งของ "ก.ล.ต." ส่งผลให้สามารถนำเงินส่งคลังได้ 330 ล้านบาท

*************************************

โดย...ทีมข่าวหุ้น-ตลาดทุนโพสต์ทูเดย์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลุยบังคับใช้กฎหมายปี 2561 ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง และส่งฟ้องศาลแพ่งอีกจำนวนมาก

ทั้งนี้ ปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งครบรอบ 2 ปี ที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 5 มีผลบังคับใช้โดยการกำหนดให้มีการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้กับผู้กระทำความผิดในตลาดทุน ซึ่งปรากฏว่าทั้งปี ก.ล.ต.ได้ดำเนินการลงโทษทางแพ่ง และผู้กระทำผิดยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) รวมทั้งสิ้น 43 คดี มีผู้กระทำผิด 7 ราย และมีการจ่ายค่าปรับและคืนผลประโยชน์ค่าปรับทางแพ่งและเงินชดใช้เท่ากับผลประโยชน์เข้ากระทรวงการคลัง 330.06 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของ ค.ม.พ.จนส่งฟ้องต่อศาลแพ่ง รวม 89 คดี มีผู้กระทำความผิด 10 ราย ซึ่งเป็นในกรณีของการสร้างราคาหลักทรัพย์ 6 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) บริษัท มิลล์คอน สตีล (MILL) บริษัท โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ (NINE) และ NINE-W1 โดยมีผู้กระทำความผิดรวม 23 ราย ซึ่งมีบางรายสร้างราคาหลายหลักทรัพย์ ซึ่งในคดีนี้ ค.ม.พ.ให้ชำระค่าปรับและเรียกคืนผลประโยชน์กว่า 890 ล้านบาท

คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นยังไม่รวมกรณีของ 40 กลุ่มบุคคลสร้างราคาหุ้นบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA) ที่มีค่าปรับทางแพ่งสูงถึงกว่า 1,700 ล้านบาท และถ้าหากผู้ถูกกล่าวโทษไม่ยินยอมปรับตามคำสั่ง ค.ม.พ.ก็จะต้องส่งฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ดำเนินการปรับขั้นสูงสุด

สำหรับการดำเนินการทางอาญาในปี 2561 มีการเปรียบเทียบ จำนวน 28 คดี มีผู้กระทำความผิด 46 ราย มีเงินที่เกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบปรับ 25.34 ล้านบาท มีการกล่าวโทษ 17 คดี มีผู้กระทำผิด 82 ราย ขณะที่การดำเนินการทางบริหาร พักความเห็นชอบ 14 รายและเพิกถอนความเห็นชอบ 7 ราย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่านับจากมีการนำกฎหมายฉบับที่ 5 มาใช้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายและการนำผู้กระทำผิดในตลาดทุนเข้าสู่กระบวนการได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพราะหากเปรียบเทียบกับอดีตที่ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ที่ให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้ได้และใช้เพียงกฎหมายทางอาญาเท่านั้น ซึ่งทำให้การดำเนินการนำผู้ทำผิดมาลงโทษทำได้ลำบากเพราะจะต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย

ทั้งนี้ สถิติการดำเนินการทางอาญาตั้งแต่ปี 2558 ถึงเดือน มิ.ย. 2561 มีการกล่าวโทษผู้กระทำผิด 313 ราย เปรียบเทียบผู้กระทำผิด 342 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 236 ล้านบาท และดำเนินการและการลงโทษทางบริหาร พักความเห็นชอบบุคลากร 97 คน เพิกถอน 37 คน

มองไปข้างหน้า และแนวโน้มปี 2562 นี้ น่าจะได้เห็นอะไรที่ตื่นเต้นอีกมาก หลัง ก.ล.ต.ร่วมกับกรมบังคับคดี และสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีกับผู้กระทำความผิด เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งสามสนับสนุนการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน

รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ในการป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน และสามารถรวบรวมทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดหรือจำเลย มาชำระค่าปรับทางแพ่งหรือชดใช้เงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสาม รวมทั้งการดำเนินการบังคับคดีกับผู้ต้องโทษปรับในคดีอาญา เพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับมาใช้ค่าปรับอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมาย

“รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน การบังคับคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรม จะมีผลในเชิงการยับยั้งและป้องปรามการกระทำผิดในอนาคตได้ การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้ตลาดทุนเป็นแหล่งลงทุนและระดมทุนที่มีความน่าเชื่อถือ และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ