posttoday

กลต.รุก 'เพิ่มเงินออม'

14 ธันวาคม 2561

ก.ล.ต.ตั้งเป้าบริษัทเกษียณสุขปี 2562 ดึงนายจ้างเข้าร่วมพัฒนาแผนการลงทุน 250 ราย แนะพอร์ตลงทุนสมดุลตามอายุ ออมขั้นต่ำ 10% ชีวิตไม่อดอยาก

ก.ล.ต.ตั้งเป้าบริษัทเกษียณสุขปี 2562 ดึงนายจ้างเข้าร่วมพัฒนาแผนการลงทุน 250 ราย แนะพอร์ตลงทุนสมดุลตามอายุ ออมขั้นต่ำ 10% ชีวิตไม่อดอยาก

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปี 2562 ตั้งเป้าหมายที่จะดึงนายจ้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าโครงการ "บริษัทเกษียณสุข" 250 รายจากปี 2561 ที่มี 170 ราย ซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้ 100 ราย เพื่อสนับสนุนให้นายจ้างช่วยให้ลูกจ้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีหลังเกษียณผ่านกลไกการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทั้งนี้ แนะนำให้นายจ้างควรมีการจัดแผนลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (Life Path) ที่ปรับสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติตามช่วงอายุของสมาชิกเป็นพื้นฐานให้กับนายจ้าง นอกเหนือจากแผนการลงทุนแบบอื่นๆ ที่มีความหลากหลายตอบโจทย์การวางแผนการเงินของแต่ละคน และการออมขั้นต่ำที่จะทำให้ใชีวิตไม่อดอยากควรไม่ต่ำกว่า 10% ต่อเดือน ถ้าอยากให้ชีวิตมีความพอเพียงควรจะออมให้ได้ 15% ต่อเดือน

"จากผลวิจัยที่ผ่านมาจะพบว่าคนทำงานในปัจจุบันจะมีเงินออมหลังเกษียณต่ำกว่า 1 ล้านบาท ปัจจุบันสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 60% ได้เงิน ณ วันเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท ขณะที่ผลงานวิจัยระบุว่าเงินขั้นต่ำสุดที่ควรมีเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาท" นายรพี กล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า จากคนวัยทำงานจาก 38 ล้านคน มีเพียงแค่ 3 ล้านคน ที่มีการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การเข้าถึงความเพียงพอของเงินที่มีไว้ใช้หลังเกษียณยังไม่เกิดขึ้น โดยทาง ตลท.มีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อการวางแผนเกษียณอย่างต่อเนื่องและภายในมีการสนับสนุนให้สะสมเงินออมให้เต็ม 10%

"คิดว่าการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังต้องออมผ่านเครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติมด้วย" นายภากร กล่าว

นายอนุวัฒน์ จงยินดี อุปนายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบ 1.14 ล้านล้านบาท แยกเป็นเงินสะสมของฝั่งลูกจ้าง 53% เงินสมทบจากนายจ้าง 46% คณะกรรมการกองทุนคือหัวใจสำคัญในการให้ความรู้พนักงานให้สะสมเงินออมสูงขึ้น

น.ส.อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนายจ้างส่วนใหญ่มีการสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ที่อัตรา 3-5% ส่วนที่สมทบในอัตรา 10-15% นั้นมีเพียง 12.5% ของนายจ้างทั้งหมดซึ่งไม่เพียงพอ จึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนการลงทุนที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ เงินฝาก 61% ซึ่งผลตอบแทนต่ำ

นายเกษตร ชัยวันเพ็ญ คณะกรรมการกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า จากสถิติการจะบริหารผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อต้องมีหุ้นอยู่ในพอร์ต 10% ถ้ามีหุ้นในพอร์ต 25% จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% ชนะเงินเฟ้อ