posttoday

หุ้นกู้ปี61 ทำสถิติสูงสุด

27 สิงหาคม 2561

เอกชนกระหน่ำออกหุ้นกู้ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 8.5 แสนล้าน กสิกรไทยลั่นพร้อมรักษาอันดับ 1 ปีนี้

เอกชนกระหน่ำออกหุ้นกู้ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 8.5 แสนล้าน กสิกรไทยลั่นพร้อมรักษาอันดับ 1 ปีนี้

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ปีนี้คึกคัก และน่าจะเป็นปีที่ภาคเอกชนออกหุ้นกู้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 8.5 แสนล้านบาท เติบโตราว 7-8% จาก 7.95 แสนล้านเมื่อปีที่แล้ว โดยมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ การออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด ซึ่งส่วนนี้มีจำนวนมากที่สุด รองลงมา เป็นการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อระดมทุนใช้ในโครงการลงทุนใหม่ และสุดท้ายเป็นการล็อกต้นทุนการเงินต่ำก่อนที่ดอกเบี้ยจะขึ้น

นอกจากนี้ พบว่า ตลาดตราสารหนี้กลายเป็นทางเลือกหลักในการระดมทุนของภาคเอกชนที่มีศักยภาพ โดยพบว่า ลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ย้ายมาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้แทนการใช้สินเชื่อของธนาคาร เพราะต้นทุนการเงินถูกกว่าและเป็นการกระจายแหล่งเงินทุน อย่างไรก็ดี เทียบกับขนาดของตลาดบอนด์และสินเชื่อแล้ว ตลาดสินเชื่อยังใหญ่กว่ามาก

"ขณะนี้ธุรกิจไม่ได้มองว่าจะเลือกกู้ธนาคารดีหรือออกหุ้นกู้ดีทางไหนถูกกว่ากัน แต่ส่วนใหญ่มีเป้าหมายชัดว่าอยากจะออกหุ้นกู้อย่างสม่ำเสมอ เป็นแหล่งระดมทุนทางเลือกหลักเลย ฉะนั้น มูลค่าของหุ้นกู้ก็มีแนวโน้มคงที่แบบนี้ ที่ผ่านมามีลูกค้าย้ายจากการใช้เงินกู้มาตลาดบอนด์มากขึ้น ทุกปีจะเห็นผู้ออกบอนด์หน้าใหม่มาเรื่อยๆ" นายธิติ กล่าว

ส่วนวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้เพื่อตุนสภาพคล่องในช่วงดอกเบี้ยต่ำ มีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ลูกค้าที่ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่มีโครงการใช้เงินอยู่แล้ว ไม่เห็นการระดมทุนวันนี้เพื่อโครงการ 6 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่จะระดมทุนล่วงหน้าเพียง 1 ไตรมาสเท่านั้น เพราะแนวทางนี้ทำให้ได้เงินมาทั้งก้อนทันที ไม่ใช่การทยอยเบิกใช้อย่างสินเชื่อ เรื่องต้นทุนมีน้ำหนักน้อยเทียบกับความจำเป็นต้องใช้เงิน

นายธิติ กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นอันดับ 1 ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ มีส่วนแบ่งตลาด 22% จากปีที่แล้วอยู่อันดับ 3 ส่วนแบ่ง 17% สิ้นปีมั่นใจว่าจะรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้คิดเป็นมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนลูกค้ามีหลายอุตสาหกรรมทั้งค้าปลีก โรงไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน อายุหุ้นกู้เฉลี่ย 2-3 ปี สอดคล้องกับความต้องการผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนไม่ยาวมากในภาวะที่ดอกเบี้ยกำลังขึ้น แม้ว่าทางลูกค้าต้องการออกหุ้นกู้ยาวขึ้นเพื่อล็อกต้นทุนก็ตาม

ทั้งนี้ แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมในธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ยอมรับว่า ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายลดลงเพราะแข่งขันสูง แต่เพราะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มทำให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมไม่ลดลง แต่แนวโน้มมีโอกาสค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากตลาดมีความผันผวนมากขึ้นและดอกเบี้ยขาขึ้นทั้งไทยและสหรัฐในปีหน้า

"8 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง ไม่มีความเสี่ยงและนักลงทุนอยากได้ของ เวลาไม่มีความเสี่ยงทุกคนจึงลดค่าฟี แต่ช่วงมิ.ย-ก.ค. ที่ตลาดบอนด์ผันผวนครั้งแรกในรอบ 5-6 ปี แต่เป็นแค่ระยะสั้น 2 เดือน ค่าฟีจึงยังไม่เพิ่มขึ้น แต่ปี 2562 ที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยแรงความผันผวนสูงต่อเนื่อง ค่าฟีน่าจะเพิ่มขึ้น" นายธิติ กล่าว

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดที่ต้องติดตามมี 2 ด้าน ได้แก่ ความผันผวนของนโยบายดอกเบี้ย ทั้งของสหรัฐและของไทย และมุมมองความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากนักลงทุนมองว่าดอกเบี้ยจะขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมรีบซื้อเพื่อเก็งกำไร ขณะที่ดอกเบี้ยไทยมีโอกาสมากที่ปรับขึ้นในปีหน้า ไม่เช่นนั้นช่องว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐจะห่างกันเกินไปทำให้ทิศทางเงินทุนไหลออก

นายธิติ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวตลาดพันธบัตรล่าสุด เงินทุนต่างชาติเคลื่อนย้ายในตลาดพันธบัตรในขณะนี้สุทธิไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่ ต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรมากถึง 7-8 หมื่นล้านบาทในต้นปี แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการขายออกไป ปัจจุบันยอดคงค้างพันธบัตรที่นักลงทุนต่างชาติถือปัจจุบันอยู่ที่ราว 8.5 แสนล้านบาท โดยการไหลออกมาจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับ การลดน้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย

สำหรับสิ้นปีนี้คาดว่า สถานะของนักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิเล็กน้อยในตลาดพันธบัตร ประเมินว่าแรงขายช่วงที่เหลือของปีจะไม่มาก เพราะตลาดได้เคลื่อนไหวตามคาดการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นไปบ้างแล้ว (Price In) ซึ่งขณะนี้ดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 2.3% ส่วนดอกเบี้ยไทย 1.5% แต่ตลาดเกิดใหม่ยังเป็นเป้าหมายนักลงทุนเชิงกลยุทธ์อยู่