posttoday

ส.ตราสารหนี้ชี้มาตรการภาษี15%ทำเงินต่างชาติชะลอ

11 ตุลาคม 2553

สมาคมคมตราสารหนี้ชี้มาตรการภาษี 15 % ทำเงินต่างชาติชะลอชั่วคราว เพราะต่างชาติมีต้นทุนการลงทุนเพิ่ม ชี้มาตรการรควรมีอายุไม่เกิน 6 เดือน

สมาคมคมตราสารหนี้ชี้มาตรการภาษี 15 % ทำเงินต่างชาติชะลอชั่วคราว เพราะต่างชาติมีต้นทุนการลงทุนเพิ่ม ชี้มาตรการรควรมีอายุไม่เกิน 6 เดือน

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์  กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า กรณีที่ทางการจะเก็บภาษีดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่าย 15 % จากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล มีผลให้เม็ดเงินต่างชาติชะลอการไหลเข้าลงบ้าง เพราะการหัก 15% ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของต่างชาติ แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบไม่มากและคงไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับมาตรการกันสำรอง 30 % เมื่อปี 2549 เพราะมาตรการนี้ออกมาเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินมากกว่า รวมทั้งมาตรการดังกล่าวมีผลกระทบเฉพาะเม็ดเงินลงทุนใหม่เท่านั้น ส่วนเม็ดเงินลงทุนเก่าไม่มีผลจึงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติต้องรีบขายเพื่อเอาเงินออกไป

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า บุคคลในตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และมองว่าควรเป็นมาตรการระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากเท่าที่ทราบในเอเชีย ไม่มีประเทศไหนที่เก็บภาษีกับนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมามีการทำข้อตกลงกันในภูมิภาคเอเชียไว้ว่าจะยกเลิกเก็บภาษีเพื่อกระตุ้นให้ตลาดตราสารหนี้มีสภาพคล่อง ซึ่งทางไทยและมาเลเซียได้มีการยกเลิกเก็บภาษีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2548 

“นับแต่มีข่าวว่ารัฐจะเก็บภาษีในตลาดตราสารหนี้ 15% ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันราคาพันธบัตรรัฐบาลลดลง เพราะคนเทขายมากขึ้น ทำให้ต้องปรับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อจูงใจนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 0.05% สะท้อนว่าตลาดได้ตอบรับข่าวดังกล่าวไปแล้ว โดยขณะนี้พันธบัตรอายุ 10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 3% และอายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.5%”น.ส.อริยากล่าว