posttoday

กลต.เกาะติดหนี้เอิร์ธ

23 มิถุนายน 2560

กลต.เกาะติด EARTH ทุกวันและรอดูแนวทางชำระหนี้ระบุ ยอดหนี้ 7,500 ล้าน มีสถาบันลงทุนน้อยที่เหลือ กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่

กลต.เกาะติด EARTH ทุกวันและรอดูแนวทางชำระหนี้ระบุ ยอดหนี้ 7,500 ล้าน มีสถาบันลงทุนน้อยที่เหลือ กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่

นายรพี สุจริตกุล เลขาคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงกรณีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (บี/อี) และหนี้หุ้นกู้ของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) นั้น ทาง ก.ล.ต.ก็ยังคงติดตามอยู่ตลอดทุกวัน ให้ทาง EARTH ชี้แจงข้อมูลว่าจะดำเนินจัดการชำระหนี้อย่างไร ซึ่งขณะนี้รอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลมา

สำหรับตั๋วเงินบี/อี และหุ้นกู้ที่ทาง EARTH เสนอขายตอนนี้มี 7,500 ล้านบาท มีสถาบันเข้าไปลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าลงทุนในตั๋วเงินบี/อี  ขณะที่นักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่จะลงทุนในตั๋วเงินบี/อี ที่จดทะเบียนที่สมาคมตราสารหนี้ไทย (THAIBMA) เป็นหลัก

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า มั่นใจว่าการผิดนัดตั๋วบี/อี ที่มีปัญหาขณะนี้ไม่ได้เป็นโดมิโนอย่างที่หลายคนกังวล เนื่องจากบี/อี ที่มีปัญหาเป็นเฉพาะในกรณี

"เรื่องตั๋วบี/อี มองว่า ต้องกลับมาเรื่องเดิมคือ คนที่เข้าลงทุนในตั๋วเงินต้องเข้าใจว่า ตั๋วเงินบี/อี มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้ รวมไปถึงตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ด้วยที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้ หากมองตั๋วเงินอย่างเข้าใจตั๋วเงินบี/อี หรือหุ้นกู้ก็เปรียบเหมือนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีโอกาสเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้"

สำหรับตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA ที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีประมาณเกือบใกล้ 500 ราย แต่มีบริษัทที่มีการผิดนัดชำระหนี้ทั้งสิ้น 10 รายด้วยกัน หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ถือว่าน้อยมาก และเมื่อเทียบ NPL ทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ประมาณ 4-5%

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือ คนที่นำตั๋วเงินบี/อี และหุ้นกู้ไปขาย ตลาดนี้ไม่ใช่แค่รายย่อยที่ซื้อตั๋วเงินพวกนี้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีการซื้อครั้งละ 10-20 ล้านบาท และ คนที่ขายก็เป็นสถาบันการเงินกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งขบวนการขายนั้นก็ได้มีการอธิบายข้อดีข้อเสียไว้ให้ชัดเจน เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้

แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ทางออกการแก้ไขปัญหาหนี้ EARTH ก็ต้องอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) เจ้าหนี้รายใหญ่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าการตัดวงเงินที่เกิดมาจากการใช้เงินไม่เหมาะสมคือ การนำเงินสั้นไปใช้ยาวและ หมุนรอบไปเรื่อยๆ เมื่อสะดุดเลยทำให้เกิดปัญหา

"KTB ฐานะเจ้าหนี้คิดว่าจะทำอย่างไร การแปลงหนี้เป็นทุนคือทางเลือกหนึ่งแต่ราคาที่จะแปลงจะต้องคิดราคาที่จะรองรับกับมูลหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งจะแปลงใน ราคาที่จะทำมาก เพื่อให้ครอบคลุมความเสียหาย" แหล่งข่าวกล่าว