posttoday

กรรมาธิการ ศก. แนะปฏิรูปรับฟินเทค

01 พฤษภาคม 2560

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมี สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน ได้เสนอรายงาน

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมี สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน ได้เสนอรายงานต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่อง “การปฏิรูประบบการรองรับนวัตกรรมทางการเงิน” หรือ ฟินเทค โดยมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่

การสร้าง Digital Infrastructure โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานGovernment Data เปิดให้ผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและนำไปใช้พัฒนานวัตกรรม เช่น ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ที่ดิน การปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Cross-Industry Data Pool ใช้วิเคราะห์เชิงลึกข้ามอุตสาหกรรมได้ เช่น การจัดเก็บประวัติการรักษาพยาบาลของประชาชน เพื่อการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและการคำนวณเบี้ยประกัน เป็นต้น

รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Common Utility เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนทางธุรกิจ มีการพัฒนา Cyber Security สำหรับ National Critical Infrastructure ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการสร้างบุคลากรด้าน Cyber Security และผลักดันให้การปฏิบัติที่มีมาตรฐานทั้งในภาครัฐและเอกชน

การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบของภาครัฐด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) การผลักดันให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลตามกฎหมาย เช่น การทำ KYC การทำ Account Opening และการลงนาม Signature ในรูปแบบ Electronic กฎหมายรองรับการทำธุรกรรม Crowd Funding และ Peer to Peer Lending กฎหมาย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) และการจัดทำ Regulatory Sandbox ช่วยผู้ให้บริการที่ยังไม่พร้อมประกอบธุรกิจสามารถทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ได้

และควรต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในนวัตกรรมที่สร้างขึ้นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และสร้างแรงจูงใจด้านภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำธุรกรรมในระบบการเงินไทย เช่น ให้สิทธิทางภาษีแก่ผู้ประกอบการ ที่พัฒนาการวิจัยและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อทำธุรกิจ

การส่งเสริมการจัดตั้ง Innovation Lab เพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ทั้งจากภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ เช่น กรณีของ MAS ในสิงคโปร์ ที่รัฐบาลสนับสนุนเงินคิดเป็น 50% ของเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน Innovation Center เป็นต้น การดึงดูดผู้มีประสบการณ์ทางธุรกิจให้เข้าร่วมลงทุนในกิจการช่วงเริ่มต้น การสร้างศูนย์ Co-working Space เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านสถานที่ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ และการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมทางการเงิน ภายใต้หลักสูตรต่างๆ

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ การมีกฎหมายที่มีความสมดุลระหว่างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน การประสานความร่วมมือของหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อส่งเสริมแก้ไขอุปสรรคในการพัฒนา

รวมทั้งมีการสร้าง Cyber Security ตามมาตรฐาน ISO 27001 และการให้บริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล เพื่อลดการใช้กระดาษ รวมถึงการให้ส่งต่อข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลภาครัฐที่น่าเชื่อถือระหว่างกันได้  การกำหนดเป้าหมายและวัดผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูประบบเพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงิน โดยวัดจากประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินและใช้บริการทางการเงินขั้นพื้นฐานในต้นทุนที่เหมาะสม