posttoday

อินทัชปั้นสตาร์ทอัพ เข้าตลาดหุ้น

28 กุมภาพันธ์ 2560

ธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังเป็นกระแสหลังรัฐบาลมีนโยบายเร่งผลักดัน พยายามปลดล็อกอุปสรรค

โดย...ประลองยุทธ ผงงอย

ธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังเป็นกระแสหลังรัฐบาลมีนโยบายเร่งผลักดัน พยายามปลดล็อกอุปสรรคเพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เติบโตต่อ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ถือเป็นต้นตำรับที่เริ่มลงทุนสตาร์ทอัพตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปี 2559 ลงทุนไปแล้ว 10 ธุรกรรม ใช้เงินลงทุนรวม 200 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าปัจจุบันเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 400 คน

“ธนพงษ์ ณ ระนอง” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริษัทร่วมทุน INTUCH และนายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (สมาคมวีซี) ให้สัมภาษณ์ว่า INTUCH เป็นส่วนหนึ่งสมาชิกคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (NCR) ซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้นในช่วงต้นปี 2559 และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นจำนวน 4 คณะ ซึ่งเขาได้นั่งเป็นรองประธานคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและเงินทุน

คณะทำงานขอรัฐบาลแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้เร็วขึ้น และการระดมเงินทุนจากกองทุนเงินร่วมลงทุน (VC) ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น ซึ่งมีกฎหมาย 2 เรื่องหลักที่ชัดเจนจากหลายเรื่องที่เสนอเข้าไปให้แก้ไข คือ

1.แก้ไขกฎหมายให้อนุญาตบริษัท จำกัด สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เฉพาะบริษัท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เพราะในต่างประเทศเครื่องมือแปลงหนี้เป็นทุนถือว่าเป็นที่นิยมในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจ

2.การแก้กฎหมายให้หุ้นบุริมสิทธิสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศสามารถทำได้ แต่ในไทยยังทำไม่ได้ เพราะทั้งสองเครื่องนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการระดมทุนของสตาร์ทอัพในต่างประเทศ ทั้งนี้ประเด็นการแก้กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งรัฐบาลก็มองบวกและสนับสนุนการแก้กฎหมายนี้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะเข้าใช้ประโยชน์เพื่อระดมทุนได้ง่ายขึ้น

อินทัชปั้นสตาร์ทอัพ เข้าตลาดหุ้น

คณะทำงาน NCR มีนโยบายผลักให้เกิดตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 3 เพิ่มจากปัจจุบันที่มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อรองรับการซื้อขายหุ้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งยังครอบคลุมถึงธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่ที่ยังไม่สามารถระดมทุนให้มีโอกาสลงทุน ขณะที่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจะมีช่องทางถอนการลงทุน (Exit) ได้ง่ายขึ้น

ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ระหว่างการทำเวิร์กช็อปกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประกอบด้วย นักลงทุน ธุรกิจสตาร์ทอัพ และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งตัวแทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลท.เพื่อระดมความเห็นร่วมกันว่าออกแบบตลาดที่ 3 ควรมีรูปแบบอย่างไร

INTUCH ผู้ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพมองว่าตลาดที่ 3 จะทำให้เห็นความชัดเจนของภาพการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ว่ามีโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนได้เป็นการจูงใจให้ผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนที่จะเข้ามาจะต้องผ่านคุณสมบัติที่ผ่านการคัดกรองแล้วไม่ได้เปิดให้นักลงทุนทั่วไปเข้ามาลงทุนได้ ซึ่ง INTUCH มีความสนใจเข้าลงทุนในตลาดที่ 3 เช่นกัน

ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่เข้ามาลงทะเบียนกับ ตลท. จำนวน 400-500 ราย โดย INTUCH เป็น VC เจ้าแรกที่ลงทุนสตาร์ทอัพด้านเท็กซ์ (Text) เริ่มลงทุนสตาร์ทอัพครั้งแรกในอุ๊คบี (Ookbee) และยังเป็นรายแรกของ VC ไทยที่ลงทุนในสตาร์ทอัพไทยในระดับซีรี่ส์เอ เข้าไปถือหุ้น 25% มูลค่าลงทุน 60 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในตอนนั้นด้วย ทั้งนี้ นโยบายของ INTUCH จะไม่ถือหุ้นเกิน 30%

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ก่อตั้งถูกลดการถือหุ้นลงต่ำกว่า 50% เพราะขาดแรงจูงใจ การลงทุนต่อเนื่องถึงในปี 2559 VC ของ INTUCH ลงทุนในสตาร์ทอัพรวม 10 บริษัท และในปี 2559 สามารถ Exit ออก 2 บริษัท คือ บริษัท คอมพิวเตอร์ โลจี และบริษัท ชอปสปอท โมบิลิตี้พีทีอี ซึ่งสร้างทำกำไรได้จากการลงทุนทั้งบริษัทสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ได้สูงกว่าเฉลี่ยของตลาดที่ทำได้ 20-25% ทำให้ปัจจุบันเหลือบริษัทสตาร์ทอัพที่ยังลงทุนอยู่ 8 บริษัท

แผนระยะกลางถึงยาวมีเป้าหมายที่จะผลักดันบริษัทสตาร์ทอัพของไทยที่ลงทุนอยู่แล้วที่เริ่มมีความแข็งแรงเข้าระดมทุนขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) ถือเป็นสตาร์ทอัพแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งภายใน 3 ปีนี้ มีโอกาสเห็นจำนวน 2 บริษัท คือ อุ๊คบี กับ บริษัท วงใน โดยในปีนี้ธุรกิจทั้งสองบริษัทจะเริ่มทำกำไร

ธนพงษ์ กล่าวต่อ ในแต่ละปีINTUCH ตั้งงบลงทุนรวมในธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท/ปี ในแต่ละปีจะมีธุรกรรมที่มีคุณภาพผ่านการคัดเลือกเข้ามาให้พิจารณาลงทุนจำนวนเฉลี่ยประมาณ 10 บริษัท/ปี แต่หากมีดีลที่ดีลงทุนจำนวนมาก พร้อมจะขยายวงเงินในการลงทุนเพิ่มด้วยทีมงานที่มีจำนวน 4-5 คน ถือว่าเหมาะสมเพียงพอรองรับการลงทุน

นโยบายการลงทุนของ INTUCH ในฝั่ง VC ในสตาร์ทอัพไม่ได้หวังเพียงผลกำไรจากการลงทุนเท่านั้น แต่บริษัทที่จะเข้าลงทุนจะต้องมีบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยสนับสนุนต่อธุรกิจกลุ่มสร้างประโยชน์ร่วมในกลุ่มของ INTUCH ทั้งหมดที่ทำอยู่ ได้แก่ เทเลคอม มีเดีย และเทคโนโลยีด้วย อีกทั้งต้องมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์เป็นที่ต้องการของตลาด หรือจัดว่าเป็นสตาร์ทอัพในกลุ่มซีรี่ส์เอเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการทางธุรกิจที่เริ่มมีการเติบโต ซึ่งจะมีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเปรียบกับสตาร์ทอัพกลุ่มที่อยู่ในช่วงการเริ่มต้นธุรกิจหรือซีรี่ส์ซีด (Seed)

ทั้งนี้ ยังมองโอกาสขยายการลงทุนสตาร์ทอัพเพิ่มในอีก 3 กลุ่ม คือ 1.Internet of Things คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ 2.ฟินเทค 3.บิ๊ก ดาต้า (Big Data) และขยายการลงทุนไปในสตาร์ทอัพต่างประเทศ หลังช่วงปลายปี 2559 บริษัทเริ่มขยายการลงทุนไปในสหรัฐ คือ บริษัท Social Nation สตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทย ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการโฆษณา โดยบริษัทจะนำเงินลงทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำทางด้านแพลตฟอร์มการกระจายโฆษณาแบบเสมือนจริง เพราะสามารถเชื่อมโยงบริการหรือผลิตภัณฑ์กลับมาที่ไทยเป็นประโยชน์ตามกลยุทธ์การทำธุรกิจของกลุ่มได้ ประเทศเป้าหมายที่มีความน่าสนใจหาโอกาสการลงทุนและมีธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งอยู่ คือ สหรัฐ อิสราเอล และจีน ขณะที่จะอาศัยเครือข่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่คือสิงเทล ซึ่งมีการลงทุนอยู่ทั่วโลก