posttoday

"อาฟเตอร์ยู"แกร่ง พร้อมเข้าตลาดหุ้น

21 มิถุนายน 2559

“อาฟเตอร์ ยู” เตรียมขายหุ้นไอพีโอ 240 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายสาขา-เพิ่มกำลังผลิต-ลดต้นทุน

“อาฟเตอร์ ยู” เตรียมขายหุ้นไอพีโอ 240 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายสาขา-เพิ่มกำลังผลิต-ลดต้นทุน

บริษัท อาฟเตอร์ ยู ยื่นแบบแสดงรายการ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 240 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย

สำหรับหุ้นไอพีโอที่เสนอขาย แบ่งขายให้กับประชาชนจำนวน 236.50 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่กรรมการจำนวน 1.5 ล้านหุ้น ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท 2 ล้านหุ้น โดยมีกลุ่ม น.ส.กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ ถือหุ้น 55% หลังขายหุ้นไอพีโอจะลดเหลือ 38.5% และกลุ่มนายแม่ทัพ ต.สุวรรณ ถือหุ้น 45% จะลดเหลือ 31.5%

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำเงินที่ระดมได้ไปใช้ในการขยายสาขาทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีก 25-30 แห่ง ภายในปี 2561 เพิ่มกำลังการผลิตพร้อมกับขยายสายการผลิตในกลุ่มขนมหวาน โดยนำเครื่องจักรและอุปกรณ์มาใช้ในโรงงานแห่งใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต บริษัทมีแผนติดตั้งและปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานให้ทันสมัย รวมทั้งติดตั้งและพัฒนาระบบจัดการบัญชีครบวงจร สร้างศูนย์ฝึกอบรมพนักงานและศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2548 เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหารทะเล และในปี 2549 ได้เปิดร้านขนมหวาน ภายใต้ชื่อ “อาฟเตอร์ ยู” มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 5.5 ล้านบาท ในปี 2556 เป็น 45.8 ล้านบาท ในปี 2557 และ 57.5 ล้านบาท ในปี 2558 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 220.8% ต่อปี และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 3.0% 14.7% และ 13.9% ในปี 2556-2558 ตามลำดับ แม้ว่าในปี 2558 อัตรากำไรสุทธิจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2557 เนื่องมาจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราเติบโตเฉลี่ยก็ยังคงสูงอยู่ถึง 220.8% เช่นเดียวกันกับปี 2558 ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 9.8 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2558 เป็น 26.1 ล้านบาท ของงวดเดียวกันในปี 2559

นอกจากนี้ ความเสี่ยงของ อาฟเตอร์ ยู คือ การพึ่งพิงการคิดค้นสูตรในการผลิตจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบและการเก็บรักษาความเสี่ยงจากการไม่สามารถต่อสัญญาเช่าสถานที่ การเพิ่มขึ้นของค่าเช่า และการไม่สามารถหาพื้นที่เช่าเพื่อเปิดสาขาใหม่ในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ ความเสี่ยงในการขยายกำลังการผลิตและการย้ายโรงงาน และความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสาขาของบริษัท

ภาพจากเฟซบุ๊ก www.facebook.com/afteryoufanpage