posttoday

กลต.เร่งปิด60คดี

07 มีนาคม 2559

เลขาฯ ก.ล.ต.มอบนโยบายเร่งดำเนินคดี ล่าสุดอยู่ในมือ 60 เคส ใช้เวลาเฉลี่ย 18 เดือน/คดี

เลขาฯ ก.ล.ต.มอบนโยบายเร่งดำเนินคดี ล่าสุดอยู่ในมือ 60 เคส ใช้เวลาเฉลี่ย 18 เดือน/คดี

นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต.
มีคดีอยู่ในมือประมาณ 60 คดี และวางเป้าหมายในการดำเนินคดีเฉลี่ยประมาณ 18 เดือน/คดี สำหรับการรวบรวมข้อมูลหลักฐานจนกระทั่งจบกระบวนการของ ก.ล.ต. แต่หากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรวมถึงเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความสนใจมากๆ หรือส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของส่วนรวมนั้น ได้รับนโยบายจาก นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.ว่าต้องแบ่งกำลังคนจากบางเคสที่ไม่ได้มีความล่าช้าและไม่สำคัญมากนัก เพื่อมาช่วยทำเคสสำคัญให้เสร็จออกไปก่อน เพราะหากผลตรวจสอบมีความล่าช้าอาจจะถูกมองว่ากฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต.ยังมีนโยบายให้จัดกลุ่มแยกความเร่งด่วนของเคสต่างๆ หากเป็นกรณีที่มีความเร่งด่วน ก็ต้องรีบดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังไม่มีเข้ามา สำหรับคดีเก่าที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2554-2556 ก็ต้องเร่งให้จบออกไปจาก ก.ล.ต. ทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. 2559 เพราะเป็นคดีที่เก่าที่สุด ซึ่งขณะนี้หลังจากเร่งทำงานแล้ว ยังเหลืออยู่จำนวน 8 คดี จากเดิมที่มีมากกว่า 10 คดี ซึ่งไม่นับคดีที่เกิดขึ้นในปี 2554 อีก 1 คดีที่ยังค้างอยู่ ส่วนคดีที่เกิดขึ้นในปี 2557 มีเป้าหมายจะเร่งให้จบทั้งหมดภายในปี 2560

ปัจจุบันองค์กร ก.ล.ต.นานาชาติ (IOSCO) ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินคดี แต่กำหนดไว้คร่าวๆ ว่าควรดำเนินการด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“คดีในปี 2557-2558 มีการไกล่เกลี่ยกันหลายคดี อาทิ การสร้างราคา แต่หากคดีไหนต้องจบ ก็ต้องกล้าตัดสินใจ ภายใต้การทำงานที่รอบคอบและดีที่สุดแล้ว” นายสมชาย กล่าว

ผู้ช่วยเลขาธิการ กล่าวว่า การหาหลักฐานในปัจจุบันนับวันทำได้ยากขึ้น ต้องพยายามขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอนนี้ ก.ล.ต.มีเทคนิคแปลกใหม่มากขึ้นในการหาหลักฐาน ส่วนสาเหตุที่กระบวนการมีความล่าช้ามีหลายปัจจัย ที่ผ่านมาหากมีอะไรที่ผู้ต้องสงสัยขอเข้ามา ก.ล.ต.ก็จะพยายามให้ตามคำขอ แต่ตอนนี้ต้องตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้ เพื่อความเหมาะสม แต่ไม่ได้ให้ทุกกรณี

ทั้งนี้ จากสถิติการดำเนินคดีทางอาญา สำนักงาน ก.ล.ต.มีการเปรียบเทียบปรับและกล่าวโทษในปี 2555 รวม 56 คดี ปี 2556 จำนวน 79 คดี ปี 2557 จำนวน 140 คดี ปี 2558 จำนวน 89 คดี และปี 2559 มีจำนวน 6 คดี ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.พ. ส่วนใหญ่เป็นความผิดด้านงบการเงิน กรณีการออกแบบและการเสนอขายหลักทรัพย์ เช่น ในปี 2557 มีมากถึง 67 คดี ส่วนการกระทำอันไม่เป็นธรรม พบว่าเป็นความผิดเรื่องการสร้างราคามากที่สุด ในปี 2557 จำนวน 35 คดี ส่วนปีนี้ยังไม่มีการลงโทษเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำผิด 11 ราย กรณีประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) แบ่งเป็น 2 กรณี สำนักงานผู้แทนกิลท์ เอ็ดจ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (กรุ๊ป) ลิมิเต็ด ในประเทศไทย โดยนางคาเรน อลิซาเบธ เอนท์วิสเทิล ในฐานะผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย นางคาเรน อลิซาเบธ เอนท์วิสเทิล นายสตีเวนหรือสตีฟ เอนท์วิสเทิล และนายนีล คอลลาด กรณีที่สอง กล่าวโทษอีก 7 ราย ได้แก่ บริษัท พีเอฟเอส อินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลแตนท์ส (โดยนายมาร์ก เอ็ดเวิร์ด ไคร์แฮม ในฐานะกรรมการ) นายมาร์ก เอ็ดเวิร์ด ไคร์แฮม นายแอนดรูว์ วูด นายฮาร์พรีท ซัจจัน นายโรเจอร์ เซฟทัน นางสกุล ไชยากุล และนายทิโมธี ล็อก