posttoday

"มหาเศรษฐีหน้าเดิม" ต่อยอดแสวงหาโอกาสธุรกิจ

04 มิถุนายน 2558

สำรวจความร่ำรวยของมหาเศรษฐีไทย 5 อันดับแรกจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ ประเทศไทย ที่ล้วนเกิดจากการแสวงหาโอกาสต่อยอดธุรกิจ

สำรวจความร่ำรวยของมหาเศรษฐีไทย 5 อันดับแรกจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ ประเทศไทย ที่ล้วนเกิดจากการแสวงหาโอกาสต่อยอดธุรกิจ

แม้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตช้าลง แต่มูลค่าสินทรัพย์รวมของ 50 มหาเศรษฐีไทยจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ ประเทศไทย ทำสถิติใหม่พุ่งขึ้นเป็นกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.355 ล้านล้านบาท ในปีนี้ ด้วยการรวบรวมข้อมูลการถือหุ้นและถือครองทรัพย์สิน จากครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง จากตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)นักวิเคราะห์ และหน่วยงานด้านกำกับดูแลหลายแห่ง โดยการรวบรวมทรัพย์สินของสมาชิกครอบครัวเข้าด้วยด้วยกัน โดยทรัพย์สินที่เป็นหุ้นในตลท.ใช้ราคาปิดและค่าเงิน 33.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 15 พ.ค.2558 ส่วนทรัพย์สินที่อยู่ในรูปบริษัทจำกัด เทียบเคียงมูลค่ากับบริษัทมหาชน 

จากการสำรวจมหาเศรษฐี 5 อันดับแรก ของฟอร์บส์ปีนี้ พบว่า ยังเป็นมหาเศรษฐีหน้าเดิมๆเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมหาเศรษฐี 5 อันดับแรก ที่ยังมีรายได้และกำไรหลักจากธุรกิจเดิมแต่ที่ยังคงความร่ำรวยได้ล้วนเกิดจากการแสวงหาโอกาสลงทุนต่างประเทศเพื่อต่อยอดธุรกิจหลักอย่างไม่หยุดหย่อนของมหาเศรษฐีเหล่านี้

"มหาเศรษฐีหน้าเดิม" ต่อยอดแสวงหาโอกาสธุรกิจ ธนินท์ เจียรวนนท์

มหาเศรษฐีไทยอันดับ หนึ่ง ธนินท์ เจียรวนนท์ 4.831 แสนล้านบาท ที่มาของความมั่งคั่งอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร นักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนวัย 76 ปี ปีนี้เจ้าสัว ธนินท์ กลับมาครองอันดับ 1 ของทำเนียบมหาเศรษฐีไทยอีกครั้ง หลังถูกตระกูลจิราธิวัฒน์ล้มแชมป์ปีก่อน เนื่องจากทรัพย์สินของครอบครัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐด้วยราคาหุ้นของผิง อัน บริษัทประกันชีวิตอันดับ 2ของจีนในตลาดหุ้นฮ่องกง กำไรสุทธิปี 2557 เพิ่มจากปีก่อน 40%เป็น 6,350ล้านเหรียญสหรัฐ

ล่าสุดวันที่ 21 ม.ค. 2558 ซี.พี.และอิโตชู บริษัทเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจับมือกันซื้อหุ้น 20% ในบริษัทซิติก บรรษัทหลากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของจีนในวงเงิน 3.4แสนล้านบาท เป็นความร่วมมือเพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน ทั้งในเอเชียและทั่วโลก หลังจากที่ซี.พี.เข้าซื้อหุ้น3.3หมื่นล้านบาทจากอิโตชูเมื่อปี2557และ2ธุรกรรมใหญ่เมื่อปี2556(เข้าซื้อหุ้น15.6%ในผิง อัน มูลค่า3.1แสนล้านบาท และบริษัทสยาม แมคโคร มูลค่า1.88แสนล้านบาท

ด้านธุรกิจหลักอย่างอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ซี.พี.เตรียมลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเพิ่มโดยลงทุนครบวงจรทั้งอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และอาหารแปรรูป วางเป้าหมายภายใน 5 ปีว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว และเตรียมสร้างโรงงานผลิตอาหารพร้อรับประทานและเบเกอรี่อีก 9 แห่งในไทยวงเงิน 6,000 ล้านบาท วางเป้าหมายในการส่งอาหารพร้อมรับประทานบุกประเทศอาเซียน

"มหาเศรษฐีหน้าเดิม" ต่อยอดแสวงหาโอกาสธุรกิจ เจริญ สิริวัฒนภักดี

มหาเศรษฐีอันดับสอง เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4.36 แสนล้านบาท ที่มาของความมั่งคั่ง ธุรกิจเครื่องดื่ม การเงิน และอสังหาริมทรัพย์ ภายหลังรัฐประหาร รายได้และกำไรสุทธิของบริษัทไทยเบฟเบอเรจ ของเจ้าสัวเจริญ ไตรมาสล่าสุดเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลัก ส่งผลให้ราคาหุ้นไทยเบฟเพิ่มขึ้น ดึงมูลค่าสินทรัย์รวมของเจริญเพิ่มขึ้น ดันให้เจ้าสัวเจริญขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทยของฟอร์บส์ปีนี้

ขณะที่รัฐบาลที่มารัฐประหารพยายามเพิ่มภาษีและลดการบริโภคแอลกอฮอล์ เจ้าพ่อน้ำเมาตั้งเป้าเพิ่มยอดขายไทยเบฟขึ้น 2 เท่าให้เป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563 โดยมุ่งให้ยอดขายครึ่งหนึ่งมาจากต่างประเทศ

แม้มีข่าวออกมาว่าการเข้าซื้อ เฟเซอร์ แอนด์ นีฟ(เอฟ&เอ็น)บรรษัทด้านเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์เก่าแก่ของสิงคโปร์ด้วยมูลค่า 3.76 แสนล้านบาทเมื่อสองปีส่งผลให้กลุ่มของเจ้าสัวเจริญมีหนี้สินจำนวนมากแต่เจ้าสัวจอมซื้อผู้นี้ยังมองหาธุรกิจดีๆเข้ามาครอบครองต่อยอดขยายฐานธุรกิจในภูมิภาค

ล่าสุดเขาเจรจากับรัฐบาลเวียดนามเพื่อขอซื้อ Sabeco รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตเบียร์ Saigon มูลค่า 3.35 หมื่นล้านบาท แต่อาจต้องขายเอฟแอนด์เอ็นในโรงงานผลิตเบียร์ของพม่าหลังพ่ายแพ้ในข้อพิพาททางกฏหมาย

"มหาเศรษฐีหน้าเดิม" ต่อยอดแสวงหาโอกาสธุรกิจ ทศ จิราธิวัฒน์

มหาเศรษฐีอันดับสาม ตระกูลจิราธิวัฒน์ มูลค่าทรัพย์สิน 4.127 แสนล้านบาท ที่มาของความมั่งคั่ง ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม  ที่ยังมีรายได้หลักมาจากธุรกิจค้าปลีก โดยปีนี้วางแผนเปิดห้างสรรพสินค้าเพิ่ม 5 สาขา 3 สาขาในกรุงเทพฯ อีก 2 สาขาในปริมณฑล และพร้อมวางแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 20 แห่งในทศวรรษหน้ารองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)โดยจะใช้งบลงทุน1.5แสนล้านบาท

กลุ่มเซ็นทรัลยังขยายธุรกิจไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเวียดนาม และมาเลเซีย โดยให้บริษัทลูกเพาเวอร์บาย ธุรกิจค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ยังเข้าไปก่อสร้างศูนย์การค้าภายใต้แบรนด์เซ็นทรัลแห่งแรกที่ รัฐ Selangor มาเลเซียในชื่อห้างเซ็นทรัล พลาซา ไอ-ซิตี้ คาดว่าจะเปิดบริการปี2560
ชณะเดียวกันยังเตรียมขยายห้าง La Rinasscente ในอิตาลีและห้าง Ilum ในเดนมาร์ก ที่ซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2556 หลังมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง50 ล้านคนต่อปี

ทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ซีอีโอ กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การที่กลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าขยายธุรกิจเพราะมีสัญญาณว่ากำลังซื้อปีนี้จะดีกว่าปีก่อน โดยบริษัทตั้งเป้าไว้ว่าธุรกิจในปีนี้จะเติบโตขึ้นถึง 15%มียอดขายรวม 2.87 แสนล้านบาทสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเมื่อปี 35 ปีก่อน

"มหาเศรษฐีหน้าเดิม" ต่อยอดแสวงหาโอกาสธุรกิจ เฉลิม อยู่วิทยา

มหาเศรษฐีอันดับสี่ เฉลิม อยู่วิทยา มูลทรัพย์สิน 3.221แสนล้านบาท ที่มาของความมั่งคั่ง ธุรกิจเครื่องดื่ม เฉลิม พี่ใหญ่ของบรรดาพี่น้อง 11 คน เป็นแกนนำครอบครัวอยู่วิทยารุ่นที่ 2 ได้รับการวางรากฐานในการทำธุรกิจด้วยตัวเองจากเจ้าสัวเฉลี่ยว อยู่วิทยา ที่จากไปแล้วเมื่อปี 2555

เฉลิมรับผิดชอบทั้งหมด 17 บริษัทธุรกิจในเครือกว่า 50 แห่ง ครอบคลุมธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ วางแผนและผลิตสื่อโฆษณา ขายตรง สนามกอล์ฟ โรงแรม โรงพยาบาล กีฬา ไปจนถึงตัวแทนขายรถยนต์หรูเฟอร์รารี

แม้กระทิงแดงจะมีส่วนแบ่งอันดับสามในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของไทยปัจจุบัน มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท เจ้าสัวเฉลี่ยวได้สร้างตัวจากเซลส์แมนขายยาจนมีโรงงานผสมยาเอง หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน กระทั่งผลิตเครื่องดื่มชูกำลังพร้อมปั้นแบรนด์ของตัวเองจนวางขายกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

เรดบูล มียอดขาย 5,600 ล้านกระป๋องทั่วโลกเมื่อปีก่อน จากปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่เช่น อินเดีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ ทว่ามูลค่าสินทรัพย์รวมของเฉลิมลดลงเล็กน้อย เนื่องจากค่าเงินยูโรที่อ่อนลงเทียบเงินเหรียญสหรัฐ

"มหาเศรษฐีหน้าเดิม" ต่อยอดแสวงหาโอกาสธุรกิจ กฤตย์ รัตนรักษ์

มหาเศรษฐีอันดับห้า กฤตย์ รัตนรักษ์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.577 แสนล้านบาท ที่มาของความมั่งคั่ง สถานีโทรทัศน์และธนาคาร อดีตนักการธนาคารผู้ประสบความสำเร็จแต่เก็บตัวจนได้เป็นเจ้าของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อนกระโดดมาบริหารสถานีโทรทัศน์ในปี 2536

ปัจจุบันกฤตย์เป็นประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ(บีบีทีวี)ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7

นอกจากธุรกิจสื่อ กฤตย์ยังถือหุ้นในหลายบริษัททั้งอสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย ปูนซิเมนต์นครหลวง  สุขภาพ เป็นต้น  ธุรกิจที่น่าจับตาคืออสังหาริมทรัพย์เพราะกลุ่มกฤตย์ถือหุ้นในบริษัทอีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท(ESTAR)และบริษัทแกรนด์ คาแนล แลนด์(GLAND)ซึ่งมีที่ดินในทำเลทองกว่า 2,000 ไร่ กระจายในกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยว อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ขณะที่ปี 2557 กฤตย์ยังเพิ่งซื้อหุ้นโรงพยาบาลวิชัยเวช20%เป็นเงิน 642 ล้านบาทอีกด้วย