posttoday

ศาลสั่ง"ทีทีแอนด์ที"เขย่ากลุ่มเจ้าหนี้ระลอกใหม่

03 มิถุนายน 2553

ทีทีแอนด์ทีฟื้นฟูช้าไปอีก ศาลสั่งจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ หวังคืนหนี้เป็นธรรม

ทีทีแอนด์ทีฟื้นฟูช้าไปอีก ศาลสั่งจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ หวังคืนหนี้เป็นธรรม

ทนายของบริษัท พีแพลนเนอร์ ในฐานะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ทีทีแอนด์ที (TT&T) เปิดเผยว่า ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท ทีทีแอนด์ที จัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ เฉพาะเจ้าหนี้กลุ่มที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันรวมกับกลุ่มเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประเภทเจ้าหนี้การค้า ไม่รวมกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงิน

“ฝ่ายทนายผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ และหลังจากนั้น 6 สัปดาห์ น่าจะมีการนัดประชุมเจ้าหนี้ได้” แหล่งข่าวเปิดเผย

ทั้งนี้ ตามคำสั่งศาลฯ ให้เจ้าหนี้รายที่ 47 และ 51 คือบริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไคร์บเบอร์ เซอร์วิส และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ซึ่งไม่มีประกันประเภทบริษัทในเครือ ไปรวมอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 9

สำหรับเจ้าหนี้รายที่ 52-55 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 เข้าไปรวมกับกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 11 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทเจ้าหนี้การค้า ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 91/42 ทวิวรรค 2

ทนายฯ ระบุว่า การที่ศาลฯ มีคำสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ ให้ทั้งกลุ่มที่ 7 และ 9 เป็นเจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้การค้า จะทำให้ได้รับชำระหนี้ทั้ง 100% จากที่ไม่ได้ถึง ดังนั้น จึงต้องกลับไปจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ และปรับตัวเลขการชำระหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 11 เพื่อให้ทุกรายมีความเท่าเทียมกัน

ด้านคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ของกลุ่มสถาบันการเงินไทยนั้น ศาลเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินไทยนั้น ผู้บริหารแผนได้จัดกลุ่มไว้ถูกต้องแล้ว เพราะลูกหนี้มีภาระผูกพันตามสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว ประกอบกับเจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม และเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือมีความจำเป็น หรือผู้ทำแผนสามารถกำหนดวิธีการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มแตกต่างกันได้

ปัจจุบันเจ้าหนี้ TT&T มีทั้งหมดมี 12 กลุ่ม เป็นเจ้าหนี้ที่มีประกัน 1 กลุ่ม และไม่มีประกัน 11 กลุ่ม

ด้านผลการดำเนินงาน TT&T ในไตรมาสแรกปี 2553 ขาดทุนสุทธิ 297.12 ล้านบาท ลดลง จากที่มียอดขาดทุนสุทธิถึง 840.72 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชีไม่ให้ความเชื่อมั่นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานและฐานะการเงินไม่แสดงค่าแท้จริง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจสั่งให้แก้ไขงบการเงิน