posttoday

สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล สละเรือเพื่ออนาคตจีสตีล

04 พฤษภาคม 2553

ไม่มีใครเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ แต่ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เป็นคำกล่าวของ “ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” รองประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท จีสตีล...

ไม่มีใครเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ แต่ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เป็นคำกล่าวของ “ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” รองประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท จีสตีล...

โดย...ทีมข่าวหุ้น-ตลาดทุน

ไม่มีใครเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ แต่ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เป็นคำกล่าวของ “ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” รองประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท จีสตีล (GSTEEL) ที่กล่าวเป็นนัยกับผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา

ความหมายนี้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของจีสตีล เริ่มตั้งแต่ “สมศักดิ์” ยอมถอยออกมาหลายก้าว จากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงมาเป็น รองประธานกรรมการบริษัท และแต่งตั้ง Mr.Ahab Garas (การาจ) เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (CO CEO) กับ Mr.Ari Levy (อารี เลวี) แต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบัญชีและการเงิน เสริมทัพด้วยการขยับดึงคนเก่าจีสตีล Mr.Ryuzo Ogino ขึ้นไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (CO CEO) อีกคน

สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล สละเรือเพื่ออนาคตจีสตีล

การตั้ง “การาจ” และ “เลวี” 2 คนนี้ ไม่ต่างอะไรกับการ “ถอย” ของ “สมศักดิ์” เพื่อรอและเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามา เพราะ “การาจ” เป็นผู้ชำนาญยุทธจักรอุตสาหกรรมเหล็ก ด้วยคอนเนกชันที่มีกับบริษัทเหล็กขนาดใหญ่ของโลกหลายราย เป็นตัวเชื่อมต่อผู้ร่วมทุนใหม่ ขณะที่ “เลวี” มือสร้างหนี้ปรับโครงสร้างบริษัทที่มีฝีมือ เมื่อทั้งสองมาอยู่ด้วยกันนั่นหมายความว่าอนาคตจีสตีลต้องมีผู้ร่วมทุนใหม่ พร้อมกับการปรับโครงสร้างหนี้ มีเงินทุนก้อนใหม่เข้ามา

สอดคล้องกับที่ “สมศักดิ์” พูดกับผู้ถือหุ้นว่า คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีความเห็นตรงกันว่า การดำเนินธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นจากราคาเหล็กที่ผันผวน ช่วงที่ราคาเหล็กพุ่งปรี๊ดอย่างไม่คาดคิด (ปี 2551) ทำให้กำไรบริษัทดีไม่ต่างกับการพิมพ์ธนบัตร แต่ยามที่ราคาเหล็กตกวูบ ผลประกอบการขาดทุน เหมือนการเผาแบงก์ ทำให้ปี 2552 ไม่กล้าทำธุรกิจเต็มที่

“บอร์ดคิดว่าระยะยาวต้องเชิญผู้บริหารมืออาชีพมา โดยเชิญทั้งสองคนมาบริหารและดูการเงินร่วมกับโอกิโน ซึ่งสิ่งที่จะทำจากนี้ไปต้องให้ดีกว่าเก่า ผมเชื่อว่าไม่มีใครเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ แต่ต้องทำให้ดีกว่าเดิม”

พร้อมยกตัวอย่างที่ผ่านมาบริษัท จีสตีล ค้าขายด้วยเงินสด ไม่เคยมีวงเงินกับสถาบันการเงิน ค้าขายได้ปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นเครดิตของบริษัท โดยได้รับความร่วมมือจากซัพพลายเออร์ที่จ่ายเงินล่วงหน้าก่อนได้สินค้า แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ดี จากนี้ไปต้องลดการพึ่งพาจากซัพพลายเออร์ หันไปหาวงเงินจากสถาบันการเงินแทน

“ผู้ร่วมลงทุนเข้ามาแล้ว ผมจากนี้ไปถอยให้ 2 คนบริหารให้บริษัทแข็งแรงไม่แย่ไปกว่าปี 2552 คุณอารีจะเป็นคนเอาเงินทุนเข้ามา ซึ่งทุกคนเห็นด้วยที่จะทำอะไรก็ได้ให้บริษัทแข็งแรง อย่างปีก่อนขาดทุน ก็จะระมัดระวังมากขึ้น ตั้งสำรองให้หมด เคลียร์บัญชีงบการเงิน เพื่อนำกู้สถาบันการเงิน”

นอกจากนี้ บอร์ดจีสตีลยังตั้งเป้าไว้ 3 อย่าง เป็นแนวทาง ประกอบด้วย 1.การลดต้นทุนให้มาก ซึ่งขณะนี้ลดไปแล้ว 10% 2.การทำบริษัทให้เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงิน โดยทำงบให้โปร่งใสหลังจากตั้งผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบพิเศษตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่ง ซึ่งจะส่งงบวันที่ 7 พ.ค.นี้ และ 3.การค้าขายโดยมีวงเงินจากสถาบันการเงิน

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้องดำเนินการก็คือ การบริหารความเสี่ยงระบบการจัดซื้อเหล็ก ไม่สั่งซื้อล่วงหน้ายาวเกินไป เพราะจะเกิดความเสี่ยงราคาเหล็กที่ผันผวนได้ หรือไม่เก็บสต๊อกเหล็กมากจนเกินไป

และที่สำคัญที่สุดก่อนที่ผู้ลงทุนใหม่จะใส่เงินเข้ามา ต้องการเห็นงบการเงินที่เคลียร์สะอาด ผ่านมารับรองจากผู้สอบบัญชี และหลังจากนั้นปัญหาอื่นๆ จะเป็นปัญหาเล็กน้อย เช่น การเพิ่มทุน หรือหาเงินทุนหมุนเวียน การรีไฟแนนซ์หนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดวันที่ 4 ต.ค.นี้

สำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่บาดเจ็บกับราคาหุ้น GSTEEL นั้น “สมศักดิ์” ได้แสดงความเห็นใจและฝากความหวังเอาไว้ว่าไม่นานเกินรอ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะขณะนี้มีพันธมิตรที่รอซื้อหุ้น แต่พูดไม่ได้หลายอย่าง ผู้บริหารต่างชาติที่เข้ามา 2 คน กำลังทำงานอยู่ แนวทางไปในทางที่ดีขึ้น ขึ้นมากหรือน้อยเท่านั้น ไม่มีลง

นายสมศักดิ์ กล่าวเป็นปริศนาทิ้งท้ายน่าคิดว่า ต่อนี้ไปการแก้ปัญหาจีสตีลทีเดียวจบ สำหรับเขาซึ่งชำนาญนโยบายการบริหาร ดูภาพรวมจะเป็นทัพหลังเสริมความแข็งแรงให้จีสตีลต่อไป