posttoday

อนันดาทำสถิติหุ้นใหม่

09 ธันวาคม 2555

“อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” หุ้นมาร์เก็ตแคปซื้อขายวันแรกเสียฟอร์ม กลายเป็นหุ้นไอพีโอตัวแรกของปีที่ปิดต่ำกว่าราคาจอง

“อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” หุ้นมาร์เก็ตแคปซื้อขายวันแรกเสียฟอร์ม กลายเป็นหุ้นไอพีโอตัวแรกของปีที่ปิดต่ำกว่าราคาจอง

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีบริษัทที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 14 บริษัท ซึ่งเกือบทุกบริษัทราคาซื้อขายวันแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากราคาจอง สร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นอย่างมากมาย

ขณะที่วันที่ 7 ธ.ค.นี้ หุ้นบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เข้าซื้อขายในตลาดวันแรกปรากฏว่าราคาเปิดตลาดที่ระดับ 4.14 บาท หลังจากนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 4.28 บาท ก่อนจะไหลลงต่อเนื่องลงมาปิดตลาดที่ 3.80 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ 9.52% ต่ำกว่าราคาจองที่ 4.20 บาท ถือเป็นหุ้นไอพีโอตัวแรกของปีนี้ที่ราคาเปิดและปิดต่ำกว่าราคาไอพีโอ นอกจากนี้ ANAN ยังเป็นหุ้นตัวแรกที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ขนาดมาร์เก็ตแคป ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผลประกอบการมีกำไรสุทธิมาก่อน

น.ส.เมธ์วดี ประเสริฐสินธนา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน ANAN ชี้แจงว่า ราคาหุ้น ANAN ที่ต่ำกว่าราคาไอพีโอเป็นไปตามกลไกทางตลาด เพราะปัจจัยพื้นฐานของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากวันที่มีการกำหนดราคา และในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินก็มองว่ายังเป็นหุ้นที่มีการเติบโตสูงในอนาคตเหมือนเดิม ขณะที่นักลงทุนสถาบันต่างชาติก็เข้าใจและยังต้องการลงทุนระยะยาว

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ANAN กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันที่ซื้อหุ้นไอพีโอของบริษัทเข้าใจธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี และทราบว่าบริษัทจะไม่จ่ายปันผลภายใน 3 ปีนี้ ซึ่งบริษัทเองก็ต้องทำหน้าที่บริหารงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีรายได้เติบโตปีละ 25% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ หลังได้พบนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่เข้าใจว่าบริษัทจำเป็นต้องเก็บเงินสดเพื่อเป็นกระสุนไว้ซื้อที่ดินพัฒนาโครงการใหม่ตามแนวรถไฟฟ้าที่จะมีสถานีครบ 200 แห่ง ภายใน 10 ปีนี้ และพยายามรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ 35% ในทุกโครงการให้ได้ ซึ่งหากช่วงไหนที่ต้นทุนปรับขึ้น ก็จะพยายามไม่ปรับราคาขาย แต่จะเน้นที่การบริหารต้นทุนแทนมากกว่า

“ผมต้องการให้ราคาหุ้นไม่หวือหวาและมีเสถียรภาพตามปัจจัยพื้นฐานที่เป็นอยู่ ซึ่งเหตุที่เราเจาะจงเสนอขายหุ้นให้สถาบันมากกว่าอยู่แล้ว เพราะเข้าใจว่าสถาบันมีความเข้าใจในการการทำธุรกิจและต้องการลงทุนระยะยาวมากกว่า แต่บริษัทก็ไม่ได้มองข้ามรายย่อย เพราะหลังจากนี้บริษัทจะเดินสายพบนักลงทุนรายย่อยตามที่ปรึกษาทางการเงินเสนอ” นายชานนท์ กล่าว

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ให้ราคาพื้นฐาน ANAN ที่ 4.17 บาท และให้คำแนะนำ “เต็มมูลค่า” เนื่องจากราคาจองซื้อที่ 4.20 บาท คิดเป็นอัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ปี 2556 ที่ 15 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 9.2 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบ คือ บริษัทจะนำเงินระดมทุน 3,000 ล้านบาทจากทั้งหมด 5,600 ล้านบาท ไปชำระหนี้ ทำให้เหลือเงินขยายกิจการน้อย ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนใช้เงิน 1,000 ล้านบาท ไปซื้อหุ้น ADO ในส่วนที่เหลืออีก 48.3% จาก TMW มาทำโครงการแนวราบ ทำให้มีความเสี่ยงต้องกู้เงินอีก ซึ่งอาจทำให้กระแสเงินสดมีปัญหาได้