posttoday

TUF สร้างสถิติกำไรนิวไฮ

08 พฤศจิกายน 2555

บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) สร้างสถิติสูงใหม่ทั้งกำไรและรายได้ในไตรมาส 3 ในปีนี้

บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) สร้างสถิติสูงใหม่ทั้งกำไรและรายได้ในไตรมาส 3 ในปีนี้

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร  กล่าวว่า ในไตรมาส 3 บริษัทมีกำไร 1,613 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 4.6% จากงวดเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มสูงถึง 61% เทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ โดยยอดขายรูปบาท 28,327 ล้านบาท โตขึ้น 12.8% และรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 907 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.1%  สะท้อนให้เห็นว่า ทุกส่วนของธุรกิจยังมีการเติบโตที่ดี แม้ว่าต้องเผชิญกับปัจจัยของราคาวัตถุดิบปลาทูน่าและกุ้ง มั่นใจปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 12%

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือน บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งหมดเท่ากับ 4,081ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2554 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,586 ล้านบาท ส่วนยอดขายช่วง 9 เดือนในรูปเงินเหรียญสหรัฐอยู่ที่ 2,581 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% ขณะที่ยอดขายในรูปของเงินบาทอยู่ที่ 80,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6%

"ปีนี้เป็นอีกปีที่บริษัทสามารถทุบสถิติกำไรและยอดขาย โดยสร้างนิวไฮอีกครั้ง โดยเฉพาะยอดขายผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และผลิตภัณฑ์ซาร์ดีน/แมคเคอเรลในรูปเงินบาทที่เติบโตถึง 22% และ 54% ตามลำดับ รวมถึงดอกเบี้ยจ่ายที่น้อยลง เนื่องจากบริษัทนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในเดือนพ.ค. 2555 มาชำระเงินกู้เรียบร้อยแล้ว ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลง ประกอบกับไตรมาสนี้ไม่มีเหตุการณ์พิเศษทางบัญชีใดๆ" นายธีรพงศ์กล่าว

สำหรับกำไรขั้นต้นในไตรมาส 3 ซึ่งเท่ากับ 15.7% ลดลงจากกำไรขั้นต้นในไตรมาส 3 ของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 17.2% เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี จากราคาวัตถุดิบที่มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบปลาทูน่า มีราคาเฉลี่ย 9 เดือนอยู่ที่ 2,168 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  ส่วนราคาวัตถุดิบกุ้งมีความผันผวนตลอดเวลา ส่วนหนึ่งมาจากโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) ทำให้ผลผลิตกุ้งน้อย กุ้งจึงมีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนไปแล้ว

สัดส่วนรายได้ แบ่งตามผลิตภัณฑ์หลัก 6 กลุ่มธุรกิจ ใน 9 เดือนนี้ กลุ่มธุรกิจปลาทูน่า มีสัดส่วน 50% กลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง 22% กลุ่มธุรกิจปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล 6% กลุ่มธุรกิจปลาแซลมอน 4% กลุ่มธุรกิจอาหารแมว 7% และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 11%

ขณะที่สัดส่วนรายได้ แบ่งตามตลาด  สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 35% สหภาพยุโรป 31%  ขายในประเทศ 10% ญี่ปุ่น 9% อัฟริกา 5% โอเชียเนีย 3% ตะวันออกกลาง 3% เอเชีย 2% แคนาดา 1% และอเมริกาใต้ 1%

นายธีรพงศ์ ยังชี้แจงถึง การเปลี่ยนสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัท อะแวนติ ฟีด  ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอินเดีย จากเดิม 14.99% เป็น 25.12% โดยทำการสว็อฟหุ้นของบริษัท ที่บริษัทถือครองในบริษัท อะแวนติ ไทย อควอ ฟีดส์ จำนวน 3,844,800 หุ้น ซึ่งจะทำให้ อะแวนติฟีด กลายเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% ในอะแวนติ ไทย อควอ ฟีดส์ สำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มศักยภาพด้านการผลิตอาหารกุ้ง ปัจจุบันธุรกิจกุ้งในอินเดีย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารกุ้งมีการเติบโตขึ้นสูงมากถึง 3 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่าน และคาดว่า จะมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต