posttoday

กฎพื้นฐานที่ควรจำเมื่อเริ่มออม(ตอนที่1)

04 พฤศจิกายน 2555

กฎแห่งเลข 72 คือหลักง่ายๆ ที่จะทำให้ทราบว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใดที่เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP [email protected]

กฎพื้นฐานที่ควรจำเมื่อเริ่มออม(ตอนที่1)

กฎแห่งเลข 72 คือหลักง่ายๆ ที่จะทำให้เราทราบว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใดที่เงินลงทุนของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ณ อัตราผลตอบแทนที่กำหนด ด้วยสูตรง่ายๆ คือ “72/อัตราผลตอบแทนที่กำหนด” ตัวอย่างเช่น หากเรามีเงิน 100 บาท ที่ผลตอบแทน 2% ต่อปี เงินเราจะเป็น 200 บาท ในเวลา 36 ปี (72/2 = 36) แต่ถ้าเราสามารถเพิ่มผลตอบแทนเป็น 4% ต่อปี ก็จะใช้เวลาแค่ 18 ปี ที่เงินเราจะเป็น 200 บาท

ในทำนองเดียวกัน เราก็สามารถหาอัตราผลตอบแทนที่เราต้องการ หากอยากให้เงินของเราเพิ่มเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยสูตร “72/ระยะเวลาที่ต้องการลงทุน” ตัวอย่างเช่น หากเรามีเงิน 100 บาท และเราต้องการให้เงินเราเติบโตเป็น 200 บาท ในเวลา 6 ปี ผลตอบแทนที่เราต้องการคือ 12% ต่อปี (72/6 = 12)

กฎแห่ง 72 สามารถประยุกต์ใช้กับเรื่องเงินกู้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น เรากู้ยืมเงินด้วยบัตรเครดิตมา 1,000 บาท เสียดอกเบี้ยเงินกู้ 18% ต่อปี (72/18) เพียง 4 ปี หนี้ 1,000 บาทของเราก็จะพอกพูนขึ้นเป็น 2,000 บาท เราคงเห็นแล้วว่าการกู้ยืมเงินโดยเฉพาะด้วยบัตรเครดิตนั้นร้ายแรงเพียงใด

กฎแห่งดอกเบี้ยทบต้น Albert Einstein เคยกล่าวว่า “ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ย ทบต้นเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่าการค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ, E=mc2” หากเราออมเงินเดือนละ 2,000 บาท ที่ดอกเบี้ย 4% ต่อปี ในเวลา 20 ปี เงินออมเราจะโตเป็น 736,000 บาท เป็นเงินต้น 480,000 บาท เป็นดอกเบี้ย 256,000 บาท (ดอกเบี้ยเท่ากับ 53% ของเงินต้น) แต่หากเราเพิ่มเวลาออมเป็น 30 ปี เงินออมเราจะโตเป็น 1,400,000 บาท เป็นเงินต้น 720,000 บาท เป็นดอกเบี้ย 680,000 บาท (ดอกเบี้ยเท่ากับ 94% ของเงินต้น) และที่น่าสังเกตก็คือ เราเพิ่มเวลาออมแค่ 50% (จาก 20 ปี เป็น 30 ปี) เงินออมเราเพิ่มขึ้นเกือบ 100% (จาก 736,000 บาท เป็น 1,400,000 บาท) แสดงว่ายิ่งมีเวลาออมนาน โอกาสรวยก็ยิ่งมีมากขึ้น นี่แหละคือที่มาของประโยคที่ว่า “ออมก่อน รวยกว่า”

กฎแห่งการออม คนที่ไม่ประสบความสำเร็จทางการเงินส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่คล้ายกัน คือ จะออมเงินก็ต่อเมื่อใช้จ่ายก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยออม (รายได้ – รายจ่าย = เงินออม) ซึ่งมักจะเป็นว่าไม่ค่อยมีเงินเหลือให้ออม เหตุผลเพราะเมื่อมีเงินในกระเป๋ามาก เราก็จะมีแนวโน้มใช้จ่ายมากตามไปด้วย ดังนั้นวิธีเพิ่มเงินออมง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีเลย ก็คือ เปลี่ยนความคิด เป็น มีเงินปุ๊บ ออมก่อนเลย เหลือค่อยใช้จ่าย (รายได้ – เงินออม = รายจ่าย) ตัวอย่างเช่น กฎลบสิบ คือ เมื่อมีรายได้ ให้กันเป็นเงินออมก่อน 10% เหลือค่อยใช้จ่าย หากเรามีเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท ให้กันเป็นเงินออม 2,000 บาทก่อน เหลือค่อยใช้จ่าย เท่านี้เราก็มีเงินออมตามเป้าหมายอย่างข้อข้างบนได้แล้ว (แต่หากใครมีความสามารถออมได้มากกว่า 10% เป็น 20%, 30% หรือ 50% ก็ยิ่งดี เพราะยิ่งออมมากก็ยิ่งรวยเร็ว และรวยมาก)

กฎแห่งทรัพย์สิน ทรัพย์สินของคนเราแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

-ทรัพย์สินสภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด เงินออมฉุกเฉิน เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน ฯลฯ ทรัพย์สินพวกนี้สภาพคล่องสูง เบิกถอนง่าย ความเสี่ยงต่ำมาก แต่ผลตอบแทนก็ต่ำมากเช่นกัน เป็นทรัพย์สินที่จำเป็น เพราะช่วยบริหารความเสี่ยงยามฉุกเฉิน แต่ไม่ควรมีเงินในทรัพย์สินพวกนี้มากเกินไป มีไว้แค่ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็พอ สมมติมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 6,000 บาท ก็มีเงินเก็บในบัญชีออมทรัพย์ประมาณ 18,000-36,000 บาทก็พอ และอย่าลืมกันส่วนหนึ่งเพื่อสำรองสำหรับการชำระหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในระยะใกล้ด้วย

-ทรัพย์สินลงทุน ได้แก่ หุ้น กองทุน รวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เป็น ทรัพย์สินที่ช่วยให้เงินเรางอกเงย เพิ่มโอกาสของผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็ระวังความเสี่ยงที่มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ที่มีความมั่นคงทางการเงินจะมีทรัพย์สินประเภทนี้มาก เพราะเงินของพวกเขาจะทำงานช่วยสร้าง
ฐานะการเงินให้มั่นคงแข็งแรงขึ้นด้วย ที่เหมาะสมเราควรมีทรัพย์สินเพื่อการลงทุนมากกว่า 50% ของทรัพย์สินทั้งหมด

-ทรัพย์สินส่วนตัว ได้แก่ รถ เครื่อง ใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ เสื้อผ้า ฯลฯ มัก เป็นทรัพย์สินที่ตอบสนองความต้องการ และความจำเป็นของเรา แต่เป็นทรัพย์สิน ที่มีข้อเสียคือ ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่ไม่ให้ผลตอบแทน ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ซื้อง่ายแต่ขายยาก และมักขาดทุนเมื่อขาย ดังนั้น
ทรัพย์สินส่วนตัวนี้ควรมีเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น รองเท้าอาจมีแค่ 2-3 คู่ก็พอ เป็นต้น แต่ทรัพย์สินส่วนตัวนี้กลับเป็นทรัพย์สินที่คนส่วนใหญ่ชอบสะสม เลยทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยร่ำรวย

กฎแห่งหนี้ การมีหนี้มากทำให้เรามีพันธะในการที่จะต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ในเวลาที่กำหนด ดังนั้น ถ้าเรามีหนี้มากเกินไปเราก็อาจประสบปัญหาทางการเงินได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีหนี้มากเกินไปหรือไม่ วิธีหนึ่งคือลองดูว่าเรามีพันธะต้องจ่ายหนี้เพื่อการบริโภคทั้งหลาย เช่น สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ มากกว่า 20% ของรายได้ต่อเดือนหรือไม่ ถ้าใช่ก็แสดงว่าเราไม่มีความมั่นคงทางการเงิน อีกวิธีหนึ่ง ก็ดูว่าเรามีพันธะต้องจ่ายหนี้ทุกอย่าง ไม่ว่า หนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ รวมแล้วมากกว่า 45% ของรายได้ต่อเดือนหรือไม่ ถ้าใช่ก็แสดงว่าเราอาจไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ในอนาคต ถ้าจะให้ดีอย่าก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นก็ต้องรอบคอบ ระมัดระวัง และต้องไม่ให้หนี้ที่ก่อขึ้นกระทบคนอื่นในครอบครัว

สำหรับครั้งหน้าเรามาคุยกันในกฎที่เหลือครับ