posttoday

รื้อฟรีโฟลตเซต50

02 ตุลาคม 2555

หวั่นหุ้นน้อยทำราคาผิดปกติบีอีซีซิลลิงไม่เกี่ยวกับระบบ

หวั่นหุ้นน้อยทำราคาผิดปกติบีอีซีซิลลิงไม่เกี่ยวกับระบบ

ตลท.เล็งทบทวนเกณฑ์ฟรีโฟลต SET50 หวั่นสภาพคล่องต่ำทำราคาผิดปกติ ยันระบบซื้อขายไม่มีปัญหา หลัง BEC ชนซิลลิงในช่วงคอลมาร์เก็ต

นางเกศรา มัญชุศรี ผู้ช่วยผู้จัดการกลุ่มงานพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์จะทบทวนหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวกับสภาพคล่อง (ฟรีโฟลต) ในการซื้อขายหุ้นกลุ่ม SET50 เพราะถึงแม้หุ้นกลุ่มดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่ แต่สภาพคล่องในการซื้อขายมากน้อยต่างกัน เมื่อมีการซื้อขายจำนวนมากๆ อาจทำให้หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำเคลื่อนไหวผันผวนมากกว่าที่ควรจะเป็นได้

“หุ้นในกลุ่ม SET50 ส่วนมากเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูงอยู่แล้ว แต่เราพบว่ามีบางตัวที่มีสภาพคล่องไม่มากพอ และอาจทำให้ราคาซื้อขายในบางสถานการณ์ผิดปกติไป ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องศึกษาดูว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสภาพคล่องอย่างไร หรือมีหลักเกณฑ์ใดที่สามารถนำมาปรับใช้กับการซื้อขายหุ้นในแต่ละสถานการณ์ได้บ้าง” นางเกศรา กล่าว

สำหรับกรณีที่ราคาหุ้นบริษัท บีอีซี เวิลด์ (BEC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นชนระดับสูงสุดของวัน (ซิลลิง) ในช่วงคอลมาร์เก็ต เมื่อวันที่ 28 ก.ย.นั้น มองว่าน่าจะเป็นเพราะมีนักลงทุนจำนวนมากส่งคำสั่งซื้อหุ้น BEC ที่ At The Close (ATC) จำนวนมาก แต่เนื่องจากหุ้น BEC มีสภาพคล่องน้อย ทำให้ระบบไล่กวาดหุ้นตั้งแต่คำสั่งขายอันดับแรกๆ ไปจนถึงระดับราคาขายสูงสุด ทำให้ราคาวิ่งไปชนซิลลิงในที่สุด โดยยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด แต่เป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นในบางสถานการณ์มากกว่า

รื้อฟรีโฟลตเซต50

ด้านนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า กรณีของ BEC ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีคำสั่งซื้อขายราคาซิลลิงในช่วงใกล้ปิดตลาดจริง โดยเป็นคำสั่งซื้อในลักษณะ ATC

ทั้งนี้ ยืนยันว่าระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ยังคงทำงานเป็นปกติ และการซื้อขายหุ้นรายการดังกล่าวอยู่ในกรอบการซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดของวันตามเกณฑ์ 30%

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์มีคำสั่งซื้อขายหลายประเภทเพื่อให้ผู้ลงทุนได้เลือกตามความเหมาะสม โดยคำสั่งซื้อขายประเภท ATC คือ การเสนอซื้อขายโดยประสงค์ให้มีการซื้อขายครั้งเดียวที่ราคาปิด และถ้าหากมีจำนวนการซื้อขายที่ไม่สามารถจับคู่การซื้อขายได้ เมื่อปิดซื้อขายระบบจะยกเลิกการเสนอซื้อขายที่ยังจับคู่ไม่ได้นั้น และตลาดยังมีการตรวจสอบความผิดปกติจากการซื้อขายโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ

แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า นักลงทุนที่สามารถขายและซื้อหุ้น BEC ในราคาซิลลิง กระจายไปยังโบรกเกอร์หลายแห่ง เช่น ฝั่งซื้อได้แก่ลูกค้าของ บล.ธนชาต บล.ทิสโก้ และ บล.แมคควอลี่ย์ แต่แห่งละไม่มากนัก ประมาณ 1,000-2,000 หุ้นเท่านั้น

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) อ้างอิงหุ้น BEC (BEC01CA) รายเดียวในตลาดขณะนี้ แต่ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาหุ้น BEC เพิ่มขึ้นผิดปกติในช่วงคอลมาร์เก็ต เนื่องจากบริษัทไม่ได้ใช้ราคาปิดจากคอลมาร์เก็ตมาคำนวณราคา DW แต่จะใช้หุ้นแม่ราคาสุดท้ายก่อนเข้าช่วงคอลมาร์เก็ตมาคำนวณราคาใช้สิทธิแทน ซึ่งในกรณีของ BEC ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 62.50 บาท ขณะที่ราคาเปิดของวันที่ 1 ต.ค. อยู่ที่ 62 บาท ทำให้ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ บริษัทได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีนักลงทุนเข้าไปซื้อ BEC01CA ในช่วงคอลมาร์เก็ตของวันที่ 28 ก.ย. จึงไม่น่าจะมีนักลงทุนรายใดได้รับความเสียหายหรือได้ผลประโยชน์จากกรณีนี้

ปัจจุบันมีนักลงทุนถือ BEC01CA คงค้างอยู่ไม่เกิน 1 หมื่นหน่วย ซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะปกติการลงทุนใน DW จะซื้อขายภายในวันมากกว่าการถือลงทุนยาว

ด้านราคาหุ้น BEC วันที่ 1 ต.ค. เปิดที่ระดับ 62 บาท ก่อนที่จะลดลงต่อเนื่องจนปิดตลาดที่ต่ำสุดของวันที่ 60.50 บาท ลดลง 16 บาท หรือ 20.29% มูลค่าการซื้อขาย 143.09 ล้านบาท