posttoday

อเบอร์ดีนบุกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

19 กันยายน 2555

บลจ.อเบอร์ดีน บุกธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พุ่งเป้าบริษัทต่างชาติ สถาบันการเงิน ปีแรกหวัง 4,000 ล้านบาท ไม่แข่งตัดราคา

บลจ.อเบอร์ดีน บุกธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พุ่งเป้าบริษัทต่างชาติ สถาบันการเงิน ปีแรกหวัง 4,000 ล้านบาท ไม่แข่งตัดราคา

นส.สุจารี จันทร์สว่าง กรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน กล่าวว่า บริษัทเตรียมขยายธุรกิจมาบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งแบบกองทุนหลายนายจ้าง (Pooled fund) และกองทุนเดี่ยว (Single fund) โดยเน้นการบริการเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะกับสมาชิกแต่ละคน (Employee’s Choice)

“ปีนี้ บลจ.อเบอร์ดีน อายุครบ 10 ปี ย่างเข้าปีที่ 11 ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และเรามองเห็นโอกาสการเติบโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย โดยเฉพาะหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดให้มี Employee’s Choice ซึ่งใน ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2555 มีนายจ้าง 3,710 รายที่เปิดให้สมาชิกเลือกนโยบายลงทุนเอง คิดเป็น 31.5% ของจำนวนนายจ้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2552 ที่มีเพียง 1,312 ราย แม้ว่า จะมีอัตราการเติบโตสูง แต่เราเชื่อว่า ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก” นส.สุจารี กล่าว

ทั้งนี้ นส.สุจารี กล่าวว่า สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวม 4 กองทุนของ บลจ.อเบอร์ดี โดยตราสารตลาดเงิน ลงทุนในกองทุนอเบอร์ดีน แคช ครีเอชั่น ตราสารหนี้ ลงทุนกองทุนอเบอร์ดีน อินคัม ครีเอชั่น หุ้นในประเทศ ลงทุนกองทุนอเบอร์ดีน โกรท และหุ้นต่างประเทศ ลงทุนกองทุนอเบอร์ดีน เอเชีย แปซิฟิก เอคควิตี้ ฟันด์ โดยคณะกรรมการกองทุนสามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนแต่ละกองทุนออกมาเป็นแผนการลงทุนสำเร็จรูปให้สมาชิกเลือก หรือ ให้สมาชิกกำหนดสัดส่วนลงทุนด้วยตัวเอง

“การเปิดให้สมาชิกลงทุนในกองทุนรวมเป็นการนำจุดแข็งของ บลจ.อเบอร์ดีน มาเป็นจุดขาย เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนของเรามีผลดำเนินงานที่โดดเด่น และจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน โดยจะคิดค่าธรรมเนียมเฉพาะกองทุนรวม ตั้งแต่ 0.2-1.7% ขึ้นอยู่กับประเภทกองทุน แต่ไม่คิดค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ผ่านมาเราไม่ได้เข้าไปแข่งในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากมีการแข่งขันตัดราคากันค่อนข้างรุนแรง แต่ในปัจจุบันเชื่อว่าเริ่มมีความเข้าใจเรื่องการลงทุนมากขึ้นและมีนักลงทุนที่พร้อมจะจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้ได้ผลงานที่ดี” นส.สุจารี กล่าว

นส.สุจารี กล่าวอีกว่า กลุ่มลุกค้าเป้าหมายจะเน้นไปที่บริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศ สถาบันการเงิน ที่พนักงานมีความรู้ด้านการลงทุน และบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนผู้จัดการกองทุน 

“ช่วงปลายปีจะเป็นเวลาที่มีการประเมินผลงานผู้จัดการกองทุน และเลือกผู้จัดการรายใหม่ เพราะฉะนั้น เม็ดเงินจะเริ่มเข้ามาในปีหน้า ซึ่งคาดว่า จะมีเข้ามาประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ จากปัจจุบันที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1 กองทุน มูลค่า 3,300 ล้านบาท นายจ้างรายเดียว สมาชิก 3 หมื่นคน” นส.สุจารี กล่าว