posttoday

ก.ล.ต.จัดสัมมนา Private Equity

28 สิงหาคม 2555

ก.ล.ต.จัดสัมมนา Private Equity หวังสร้างเอสเอ็มอีให้เติบโต เข้าถึงแหล่งลงทุนในตลาดทุน

ก.ล.ต.จัดสัมมนา Private Equity  หวังสร้างเอสเอ็มอีให้เติบโต เข้าถึงแหล่งลงทุนในตลาดทุน
 
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย ก.ล.ต. Private Equity ว่า ทางก.ล.ต. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้ธุรกิจทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสเอ็มอี ได้เข้าถึงแหล่งลงทุนในตลาดทุน โดยสร้างเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย โดยมีแหล่งทุนประเภทหนึ่งที่เหมาะสำหรับที่จัดตั้งได้ไม่นานและมีศักยภาพในการเติบโตสูง นั่นคือกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Private Equity (PE) การลงทุนของ PE มีเป้าหมายเพื่อทำกำไร หวังผลตอบแทนสูง เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยง โดยเน้นลงทุนในระยะยาว มีระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอน มีการบริหารเงินร่วมลงทุนอย่างมืออาชีพเพื่อผลตอบแทนจากการลงทุน PE เข้ามาเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการทั้งด้านเงินทุนและการบริหาร

การจัดโครงสร้างและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อถึงเป้าหมาย PE ก็จะขายหุ้นออก ซึ่งอาจเป็นการขายให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นายวรพล กล่าวต่อว่า ทางก.ล.ต. ได้สนับสนุนเอสเอ็มอี ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จาก PE ได้ในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้มีข้อดำเนินการ 5 ข้อ คือ 1. เปิดกว้างให้แก่ผู้ที่ต้องการบริหารจัดการเงินร่วมลงทุน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้กิจการผู้ร่วมลงทุนไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการหลักทรัพย์ 2. กำหนดให้กิจการเงินร่วมลงทุนสามารถตั้งอยู่ในรูปแบบของบริษัทฯ หรือ ทรัสต์ ก็ได้ เพื่อความคล่องตัวของการลงทุน 3. ประสานงานกับกรมสรรพากรเพื่อยกเว้นภาษี ให้แก่ผู้ลงทุน โดยธุรกิจดังกล่าวจะต้องเข้าเงื่อนไข ซึ่งจะต้องเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน เป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ

4. ประสานงานกับกรมสรรพากรเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่เงินร่วมลงทุน โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่กิจการเงินร่วมลงทุนต้องลงทุนในธุรกิจเป้าหมาย และ 5. หารือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนให้กิจการเงินร่วมลงทุนเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบ

' ก.ล.ต.มุ่งหวังว่าธุรกิจจะเห็นประโยชน์ของการมี PE เป็นพันธมิตร ซึ่งนอกจากจะได้เห็นการเติบโตของธุรกิจเองแล้ว ประเทศชาติก็จะมีธุรกิจที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสูง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างแน่นอน'นายวรพล กล่าว

ด้าน ดร.อุตตม สาวนายน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพรอสเพอริตี้ แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่ก.ล.ต.มีนโยบายนี้ออกมาซึ่งจะช่วยพัฒนาธุรกิจขึ้นพื้นฐานของประเทศให้เติบโต โดยจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยสร้างผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจรายย่อย ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจแต่ยังขาดเงินทุน ซึ่ง PE จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจขั้นพื้นฐานเติบโตขึ้น โดยระดมทุนของกลุ่มเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการ ซึ่งอายุของกองทุนจะเป็นในรูปแบบลักษณะยาว เป็นระยะเวลา 8-10 ปี

ดร.อุตตม กล่าวต่อว่า โดยขณะนี้ PE ในไทยยังไม่เป็นที่กว้างขวาง เนื่องด้วยธุรกิจขนาดเล็กแบบครอบครัว ซึ่งจะเป็นแบบระบบดูแลกันเอง  แต่ในขณะเดียยกันก่อนที่ PE จะเข้ามาลงทุนในกิจการนั้นๆ จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของกิจการนั้นเป็นอย่างดี ถึงจะพร้อมกับการลงทุน

'ผมมีกลุ่ม PE ได้ร่วมลงทุนไปแล้ว 3 บริษัท จากทั้งหมด 6 บริษัท ซึ่งบริษัทที่หนึ่งมีงบลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทที่สอง 27 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนในประเทศ ทั้งในส่วนของภาคโรงงานการผลิตและการบริการ' ดร.อุตตม กล่าว