posttoday

กองทุนร่วมทุนตีปีก

20 สิงหาคม 2555

ก.ล.ต.เดินหน้าขอกรมสรรพากรยกเว้นภาษีลงทุนกองทุนร่วมลงทุนที่เข้าไปในธุรกิจเกิดใหม่

ก.ล.ต.เดินหน้าขอกรมสรรพากรยกเว้นภาษีลงทุนกองทุนร่วมลงทุนที่เข้าไปในธุรกิจเกิดใหม่

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กำลังขอกรมสรรพากรให้ยกเว้นภาษีตามสัดส่วนการลงทุนให้กองทุนร่วมลงทุนที่จะเข้าลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ หากเข้าไปลงทุนในธุรกิจสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตั้งธุรกิจกองทุนร่วมลงทุนเข้าลงทุนธุรกิจเกิดใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการรุกเข้ามาของธุรกิจจากต่างประเทศและเตรียมพร้อมสำหรับการรุกไปในต่างประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

กองทุนร่วมทุนตีปีก

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASP) กล่าวว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ว่ากองทุนร่วมลงทุนจะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนบริษัทที่อ่อนแอแทนภาครัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บริษัทที่อ่อนแอเติบโตได้ ซึ่งกองทุนนี้ยังช่วยแบกรับความเสี่ยงจากรัฐบาลได้อีกทางหนึ่ง เพราะหลังเปิดเสรีบริษัทที่มีความแข็งแรง มีชื่อเสียง มีโอกาสขยายตลาดสินค้าและบริการได้ด้วยตัวเอง ที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ยิ่งแข็งแรง บริษัทขนาดเล็กยิ่งอ่อนแอมีความแตกต่างกันมากขึ้น

แนวโน้มนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก เฟซบุ๊ก หรือแอปเปิล เติบโตได้จากเงินกองทุนร่วมลงทุน ซึ่งเจ้าของไม่มีเงินทุน แต่มีความคิดต้องการขยายกิจการ รับความเสี่ยงได้ ทำให้บริษัทดังๆ ของโลกเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้

“กองทุนร่วมลงทุนนี้ ไม่ใช่กองทุนรวมทั่วๆ ไป แต่เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาแล้วเข้าไปเลือกซื้อหรือลงทุนธุรกิจ ถือหุ้นตั้งแต่ธุรกิจเริ่มแบเบาะ จนธุรกิจแข็งแรงเข้าตลาดทุน กองทุนชนิดนี้จะลงทุนระยะยาว ถึงจังหวะหนึ่งเมื่อบริษัทแข็งแรงแล้วก็จะลดสัดส่วนการถือหุ้นออกไป”

แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีกองทุนร่วมลงทุนเกิดขึ้นแล้วโดยเข้าไปลงทุนในบริษัทไม่มาก แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจ และเสียภาษีกำไรจากการลงทุนสูงมาก ดังนั้นภาครัฐต้องยกเว้นภาษีกำไรให้เป็นศูนย์ เพื่อให้กองทุนร่วมลงทุนเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรม มีการลงทุนแพร่หลาย

ล่าสุด บล.เอเซีย พลัส ร่วมมือกับบริษัท CLSA ECM Limited เพื่อเป็นที่ปรึกษาควบรวมกิจการ (M&A) ซื้อกิจการบริษัทข้ามชาติ การเข้าซื้อกิจการในประเทศไทย หรือบริษัทไทยที่ต้องการไปลงทุนในประเทศจีน ซึ่ง CLSA มีความถนัดชำนาญการทำธุรกิจในประเทศจีน และมีสาขาอยู่ทั่วโลก

นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวรวมถึงการนำหุ้นล็อตใหญ่ที่มีมูลค่ามากมาเสนอขายนักลงทุน ซึ่ง ASP จะเป็นผู้ดูแลการซื้อขายในประเทศไทย ส่วน CLSA ดูแลการซื้อขายในส่วนต่างประเทศ

สำหรับงานที่ปรึกษาการเงิน ควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นความร่วมมือแรกนั้น ไม่สามารถเปิดเผยธุรกรรม (ดีล) ได้ เพราะอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยไม่ได้คาดหวังการสร้างมูลค่า แต่เป็นการเตรียมความพร้อมรับโอกาสที่มาถึง