posttoday

'บัณฑูร'ต้านทุนนิยมไร้ศีลธรรม

28 กรกฎาคม 2555

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้คือระบบทุนสามานย์

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้คือระบบทุนสามานย์

การทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การตัดไม้ทำลายป่า เรียกว่าทำเพื่อให้ได้เงินอย่างเดียว ไม่มีศีลธรรม ไม่สนใจผลที่เกิดขึ้น

“ทรัพยากรทุกอย่างมีอยู่อย่างจำกัด การใช้ทุกอย่างจึงมีความหมาย ทุกอย่างจึงต้องพอประมาณ และบางอย่างก็ควรมีการปฏิเสธ ต้องมีคำว่าไม่ ทำให้ไม่ได้ หากรู้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าจะทำให้เกิดความเสียหาย เช่น การปล่อยกู้ถ้ารู้ว่าอันไหนปล่อยให้ไม่ได้ก็ต้องยืนยันว่าไม่ได้ ไม่ใช่มองแค่ผลเฉพาะหน้า” บัณฑูร กล่าว

'บัณฑูร'ต้านทุนนิยมไร้ศีลธรรม

 บัณฑูร กล่าวว่า ทุนสามานย์ไม่ใช่ประชานิยม และในมุมมองคำว่าประชานิยมก็คือคำของนักการเมืองที่ใช้ด่ากัน เอาไว้ใช้ในทางการเมือง

บัณฑูร กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสนใจคือ เรื่องการศึกษา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการแก้ไขกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีความชัดเจนในการบังคับใช้ ปัจจุบันกฎหมายไทยนับวันยิ่งมีแต่ความสับสน ประเทศไทยไม่มีอะไรถูกและผิด จึงต้องอยู่กันแบบเทาๆ มัวๆ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานครบรอบ 20 ปี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนว่าไทยมีมาตรการ หรือความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะกรอบกฎหมาย และการออกกฎหมายยังทำงานได้ไม่ดีนัก หลายสิ่งที่ ก.ล.ต.ได้ให้แรงบันดาลใจที่จะยกระดับตลาดทุนไทยเป็นประตูสู่การลงทุนนั้น น่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้การดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนก็ต้องการให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้

อย่างไรก็ดี 2 ปีก่อน ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเข้ามาในตลาดทุนได้อย่างเต็มตัว เพราะทำธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ได้ แต่ปัจจุบันได้รับอนุญาตแล้วจากการเปิดเสรีใบอนุญาต ทำให้ภาคธนาคารมีการปรับตัวมากขึ้น ธุรกิจต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัว ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ

“ธุรกิจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่มีอิทธิพลอย่างสูง ส่งผลให้กิจการต้องมีกลไกการทำงานหรือมีการจัดการที่ดี และต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ระบบธนาคารที่ปั่นป่วน การขยายตัวของตลาด ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ซับซ้อน การบริหารความเสี่ยงในตลาดอนุพันธ์ รวมถึงการตรวจสอบถ่วงดุลที่หย่อนยาน ล้วนเป็นที่มาของวิกฤตหรือปัญหา ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น หน่วยงานกำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ก.ล.ต.ก็มักจะถูกตั้งคำถามการออกตราสารที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางการต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความปั่นป่วนในระบบ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนรายย่อยหรือประชาชนทั่วไป กระทั่งการออกตราสารที่ออกโดยธนาคารเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยง ต้องระมัดระวังไม่ให้กระจายไปสู่ประชาชนในวงกว้าง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ทางการผู้กำกับดูแลจึงต้องรับรู้ และกล้าที่จะออกมาหยุดก่อนที่จะเกิดความเสียหายเมื่อเห็นว่าความเสี่ยงนั้นใกล้เข้ามา” บัณฑูร กล่าว