posttoday

ตลท.จับตาวิกฤตยูโรโซน

29 มิถุนายน 2555

"จรัมพร" คาดตลาดหุ้นอาจผันผวนจากปัญหายุโรป จับตาเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เชื่อไทยรับมือได้ ด้าน "ปูนใหญ่" ลดพึ่งตลาดยุโรปเหลือ 1%

"จรัมพร" คาดตลาดหุ้นอาจผันผวนจากปัญหายุโรป จับตาเงินทุนเคลื่อนย้าย  แต่เชื่อไทยรับมือได้ ด้าน "ปูนใหญ่" ลดพึ่งตลาดยุโรปเหลือ 1%

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหายุโรปไปอีก 3 เดือนข้างหน้าเป็นระลอกๆ และคาดว่าปัญหายุโรปใช้เวลามากกว่าที่จะฟื้นตัว และสถาบันการเงินต่างประเทศถูกลดอันดับเครดิตไปหลายแห่ง แต่เชื่อว่าไทยจะรับมือวิกฤตินี้ได้จากที่เคยรับมือไปเมื่อปี 2008

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเงินทุนไหลเข้าตลาดเอเชีย เพราะนักลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงตัวเองก่อน แต่คาดว่าเม็ดเงินจำนวนมากจะเข้าตลาดตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงน้อย

พร้อมยืนยันว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีเงินไหลออก มีเพียง 400-500 ล้านบาทต่อวัน ต่างจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่ไหลออก 6 หมื่นกว่าล้านบาท ตอนนี้จึงไม่เห็นความจำเป็นจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น ขณะที่ดัชนีหุ้นยังอยู่ในระดับสูง

นายจรัมพร กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนยังสามารถทำกำไรและจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะผ่านวิกฤติมาหลายรอบแล้วก็ตาม โดยผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากบริษัทจดทะเบียนของไทยมีความแข็งแกร่งและมีราคาหุ้นที่น่าสนใจ จึงทำให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน

นอกจากนี้ในเดือนส.ค.ตลาดหุ้นไทยจะมีการเชื่อมโยงการซื้อขายหุ้นกับตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไทยสามารถเข้าซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนเพิ่มเป็น 2,100 บริษัท จาก 550 บริษัทในตลาดหุ้นไทย

นายจรัมพร ยังมองว่า ปัญหาส่งออกที่เกิดจากวิกฤติในตลาดต่างประเทศ จะถูกเปลี่ยนเป็นโอกาสให้ไทยได้มองหาและเปิดตลาดใหม่ๆ มีการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดีขึ้น

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า เอสซีจีได้ปรับแผนการส่งออกสินค้าจากเดิมที่พึ่งพาตลาดยุโรปร้อยละ 30 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 1 เท่านั้น ดังนั้นภาคเอกชนอื่นต้องบริหารความเสี่ยง เพราะปัญหายุโรปมองว่า จะเลวร้ายมากขึ้น และซึมลึกเป็นเวลานาน แต่สมาชิกของสหภาพยุโรปต่างพยายามหามาตรการออกมาช่วยเหลือสถาบันการเงิน โดยอัดฉีดเงินช่วยเหลือธนาคารไปแล้ว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผู้บริหารระดับสูงของเอกชนทุกแห่งต้องมองผลกระทบในแง่ร้ายไว้ก่อน เพื่อหามาตรการรองรับได้ทัน

นอกจากนี้ ผู้บริหารควรให้ความสำคัญและต้องดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างองค์กรให้มีความยั่งยืน การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะหลักดังกล่าวจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง เป็นภูมิต้านทานรองรับปัญหาเศรษฐกิจโลก