posttoday

นักธุรกิจไทยจับเข่าคุยพม่าเจรจาการค้าลงตัว

22 เมษายน 2555

ทัพนักธุรกิจไทยเจรจาการค้ากับพม่าสำเร็จคาดตัวเลขลงทุนแสนล้านบาท เริ่มขยับปลายเดือนเม.ย.นี้

ทัพนักธุรกิจไทยเจรจาการค้ากับพม่าสำเร็จคาดตัวเลขลงทุนแสนล้านบาท เริ่มขยับปลายเดือนเม.ย.นี้

พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า นำนักธุรกิจไทยจำนวนกว่า30คน เดินทางไปเจรจาธุรกิจการค้าการลงทุนกับผู้นำรัฐบาลพม่า ระหว่างวันที่ 9 – 14 เมษายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการนำร่องเพื่อช่วงชิงโอกาสในการทำธุรกิจกับพม่าอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก หลังจากพม่าเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ

และในทริปนี้ คณะนักธุรกิจไทยได้มีโอกาสไปร่วมงานบวช พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่า ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว ซึ่งพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง และถึงกับเอ่ยปากกับ พล.อ.เชษฐา และคณะ ว่า “นี่คือเพื่อนแท้ในยามยาก”ซึ่งทำให้คณะรู้สึกซาบซึ้งในความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ

จากนั้นคณะได้มีโอกาสเข้าพบปะพูดคุยกับ พล.อ.ทุระ ฉ่วยมาน ประธานรัฐสภา และคณะ นานประมาณ 1 ชม.ซึ่งได้เปิดอาคารรัฐสภาใหม่ต้อนรับคณะนักธุรกิจไทยอย่างสมเกียรติ โดยได้มีการพูดคุยหารือด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญในหลายประเด็น โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ร่วมเปิดการท่องเที่ยวด้านชายแดนไทย-พม่า ชักชวนนักลงทุนไทยให้เข้าไปลงทุนทำธุรกิจโรงแรม เนื่องจากปัจจุบันโรงแรมในพม่าไม่เพียงพอในการรองรับนักท่องเที่ยวที่แห่แหนเดินทางเข้าไปเยือนพม่าอย่างไม่ขาดสาย และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ พล.อ.ทุระ ฉ่วยมาน ยังให้ความสนใจเรื่องปุ๋ยนาโนเป็นพิเศษอีกด้วย โดยถึงกับเอ่ยปากซักถามถึงรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องนี้ในที่ประชุม พร้อมกับเชื้อเชิญนักธุรกิจไทยให้เข้าไปลงทุนทำธุรกิจประเภทนี้ในประเทศพม่า เนื่องจากขณะนี้พม่ากำลังเดินหน้าพัฒนาด้านการเกษตรอย่างจริงจัง

บรรยากาศการสนทนาระหว่าง พล.อ.เชษฐา และ พล.อ.ทุระ ฉ่วยมาน เป็นไปด้วยความชื่นมื่นและเป็นกันเอง โดยได้เล่าถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันมา และตอนหนึ่ง พล.อ.เชษฐา กล่าวว่า “วันนี้ได้มีโอกาสไปร่วมงานบวช พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ที่มีความสนิทสนมกันมานาน สำหรับ พล.อ.ตาน ฉ่วย และ พล.อ.หม่อง เอ ก็สนิทสนมกันดี และวันนี้ผมขอทำนายอย่างไม่เป็นทางการว่า ท่านจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของประเทศพม่า”ซึ่ง พล.อ.ทุระ ฉ่วยมาน ได้ยิ้มรับ พร้อมกับกล่าวขอบคุณ พล.อ.เชษฐา โดยทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน เนื่องจากในสมัย พล.อ.เชษฐา ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีโอกาสต้อนรับ พล.อ.ทุระ อย่างอบอุ่น เมื่อครั้งที่เดินทางไปเยือนเมืองไทย

ต่อจากนั้นคณะนักธุรกิจไทยได้เดินทางไปเยือนเมืองพุกาม เพื่อไปเยี่ยมชมวัฒนธรรมของเมืองแห่งนี้ และเดินทางต่อไปยังเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ โดยมี พล.ท.เย มิ้นท์ มุขมนตรี ภาคมัณฑะเลย์ และ พล.อ.เชษฐา ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าวด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น และมีการสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ

สำหรับนักธุรกิจที่ร่วมเดินทางไปนครั้งนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้เข้าพบกับผู้นำของรัฐบาลพม่า และได้รับการต้อนรับอย่างชื่นมื่น และเป็นกันเอง ซึ่งหาโอกาสเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว และนอกจากได้พูดคุยกับผู้นำรัฐบาลพม่าแล้ว ยังได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องธุรกิจระหว่างนักธุรกิจด้วยกันเองอีกด้วย ซึ่งทำให้รู้ช่องทางในการวางแผนทำธุรกิจร่วมกันต่อไปในอนาคต

ส่วน พ.อ.(พิเศษ) สุรินทร์ จันทร์เพียร ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า สาขากาญจนบุรี ซึ่งเป็นรองประธานคณะเจรจาธุรกิจในทริปนี้ ได้แยกตัวออกไป หลังจากได้พบปะกับผู้นำรัฐบาลพม่า เพื่อเดินทางไปพบปะกับนักธุรกิจเหมืองแร่ที่เมืองมัณฑะเลย์ โดยได้เข้าเยี่ยมชมเหมืองแร่ทองแดงและเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 100 กม.

สำหรับเหมืองแห่งนี้ดำเนินการโดยนักธุรกิจชาวพม่าที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเรียบร้อยแล้ว เมื่อกว่า 1ปีที่ผ่านมา หลังจากได้มีการสำรวจจากรัฐบาลพม่า ซึ่งจากการที่ พ.อ.สุรินทร์ ได้เดินสำรวจพบว่า เหมืองแห่งนี้มีศักยภาพสูง มีแร่ธาตุที่มีคุณค่าหลายชนิด โดยเขตสัมปทานมีเนื้อที่กว่า 1 หมื่นไร่ และได้มีการทดลองเปิดดำเนินการไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน โดยทำการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ภูเขา ลึกเข้าไปประมาณ 500 เมตร ผลปรากฏว่า พบแร่ตลอดสาย ซึ่งมีศักยภาพแร่คุ้มต่อการลงทุน พ.อ.(พิเศษ) สุรินทร์ เล็งเห็นโอกาสที่จะร่วมทุนตามความต้องการของเจ้าของเหมือง และในที่สุดได้มีการเจรจาทำบันทึกข้อตกลงที่จะร่วมทุนในการทำธุรกิจนี้ทันที

จากนั้น พ.อ.(พิเศษ) สุรินทร์ ได้เดินทางกลับมาที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อมาพบนักธุรกิจบ่อน้ำมันตามที่นัดหมายไว้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พ.อ.(พิเศษ)สุรินทร์ ได้รับสัมปทานบ่อน้ำมันมาแล้ว 2 แปลง ซึ่งการเจรจาครั้งนี้นักธุรกิจบ่อน้ำมันได้หยิบยืนโอกาสให้ร่วมลงทุนเพิ่มอีก 2 แปลง

จึงถือว่าการเดินทางในทริปนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในการเดินทาง และเชื่อว่าจากการเจรจาการค้าการลงทุนครั้งนี้จะมีตัวเลขการลงทุนในเบื้องต้นอยู่ที่หลักหมื่นถึงหลักแสนล้านบาทเลยทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มเหมืองแร่ และกลุ่มพลังงาน ที่เป็นที่สนใจของนักธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยนักธุรกิจทั้งสองประเทศจะเริ่มทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป อันเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างสองประเทศ และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันสืบไป