posttoday

เงินอินโดฯไหลซื้อหุ้นไทย

19 กุมภาพันธ์ 2555

ตลาดหุ้นไทยเสน่ห์แรง กูรูฟันธงเงินไหลออกจากอินโดนีเซีย มาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น หลังหุ้นไทยถูกกว่า 30%

ตลาดหุ้นไทยเสน่ห์แรง กูรูฟันธงเงินไหลออกจากอินโดนีเซีย มาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น หลังหุ้นไทยถูกกว่า 30%

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในงานสัมมนา “หุ้นไทยบนปัจจัยการเมืองภายใน-เศรษฐกิจไทย-วิกฤตฝรั่ง” ว่า ขณะนี้เงินทุนต่างชาติได้ไหลออกจากอินโดนีเซีย เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก เพราะราคาหุ้นอินโดนีเซียสูงกว่าไทยถึง 30% ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้แตกต่างกัน ทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องอัตราผลตอบแทนของอินโดนีเซีย ด้วยสาเหตุนี้จึงเป็นจุดดึงดูดให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นในโครงการ ก่อสร้างพื้นฐานเพื่อฟื้นฟูประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเร่งสร้างความสนใจของประเทศ เพื่อให้เป็นการลงทุนระยะยาวมากขึ้น เพราะจากตัวเลขลงทุนตรง (เอฟดีไอ) ของต่างชาติปี 2554 พบว่า อินโดนีเซียสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยมีเพียง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังต่ำกว่าเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เงินอินโดฯไหลซื้อหุ้นไทย

"ในช่วง 2 ปีนี้ สภาพคล่องจะล้นโลก เพราะสหรัฐจะดำเนินนโยบายคงดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงปี 2557 ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปนั้นคาดว่าจะใช้มาตรการเช่นเดียวกับสหรัฐในการแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น หากประเทศไทยสามารถสร้างความน่าสนใจในการลงทุนระดับนโยบายเม็ดเงินก็จะไหลเข้ามาลงทุน"นายไพบูลย์ กล่าว

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้น่าจะโตในระดับใกล้เคียง 10% และคาดว่าดัชนีหุ้นจะสามารถโตระดับ 10-15% ได้เช่นกัน ตามสภาพคล่องล้นในระบบโลก

นอกจากนี้ ภาพรวมของสถานการณ์ในต่างประเทศเริ่มดีขึ้นเอื้อต่อเศรษฐกิจในประเทศ และยังจะรับผลดีจากมาตรการฟื้นฟูน้ำท่วม ซึ่งจะส่งผลดีให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนขยายตัวที่ดี ส่วนการที่ไทยโดนขึ้นบัญชีประเทศที่มีความเสี่ยงจากการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้าย ไม่กระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ 100% แต่จะกระทบในแง่การไปลงทุนต่างประเทศมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้อยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า รัฐบาลควรจะ มีความชัดเจนด้านนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งรัฐบาลเดิมได้อนุมัติแผนปฏิบัติการและพร้อมดำเนินการได้ทันที และคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ฝ่ายการเมืองควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการชี้แจงกับคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) นอกเหนือจากให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปชี้แจง