posttoday

ทุนภัทรผนึกแบงก์เกียรตินาคิน

10 ธันวาคม 2554

ทุนภัทรผนึกแบงก์เกียรตินาคินเพิ่มโอกาสหากำไรไม่สิ้นสุด

ทุนภัทรผนึกแบงก์เกียรตินาคินเพิ่มโอกาสหากำไรไม่สิ้นสุด

ในที่สุดบริษัท ทุนภัทร (PHATRA) ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีจุดแข็งและมีความพร้อมมากที่สุดในการรับมือกับการแข่งขันการเปิดเสรีธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2555 ก็ตัดสินใจลุกขึ้นมาควบรวมกิจการกับธนาคารเกียรตินาคิน (KK) ดีลนี้มีมูลค่า ณ ราคาตลาดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ถึง 7,300 ล้านบาท

ครั้งนี้ ธนาคารเกียรตินาคินจะออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น เพื่อนำไปแลกกับหุ้นทุนภัทรจำนวน 210 ล้านหุ้น ในสัดส่วน 1 ต่อ 0.9135 หุ้น KK ทำให้ผู้ถือหุ้นทุนภัทรถือหุ้นจำนวน 23.7% ขณะที่กลุ่ม “วัธนเวคิน” ลดเหลือ 23.4% จากเดิม 30%

ทุนภัทรผนึกแบงก์เกียรตินาคิน

สุพล วัธนเวคิน ประธานกรรมการ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า การควบรวมครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมกิจการในเชิงยุทธศาสตร์ของธุรกิจ เพราะประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้สถาบันการเงินที่มีความพร้อม มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ มีศักยภาพและสามารถขยายตัวได้ทวีคูณ ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจที่เสรีเต็มรูปแบบ

เรามีเป้าหมายให้กลุ่มเกียรตินาคินภัทร เป็นผู้นำเฉพาะด้านทั้งธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดทุน โดยจะเน้นธุรกิจเช่าซื้อ พร้อมมุ่งขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อธุรกิจ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของทีมงานและฐานลูกค้าของทุนภัทรมาเสริม โดยเฉพาะทีมวาณิชธนกิจที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ จัดโครงสร้างธุรกรรม บริหารความเสี่ยง

ผลที่เกิดขึ้นหลังการควบรวม 1.จะทำให้มีฐานทุนใหญ่แข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสในการทำธุรกิจไม่มีข้อจำกัด 2.จะเป็นสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญคนละด้าน มีความสมบูรณ์และครบวงจร 3.องค์กรที่มีฐานลูกค้าและเครือข่ายที่ต่างกันเมื่อรวมกันแล้วสามารถขยายเครือข่ายได้มากขึ้น และ 4.ผู้บริหารและพนักงานทั้งสองแห่งเชี่ยวชาญกันคนละด้านจะช่วยต่อยอดได้ดียิ่งขึ้น

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ PHATRA กล่าวว่า มีแนวคิดควบรวมกับธนาคารเกียรตินาคินในปลายเดือน ก.ย.และการควบรวมน่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายไตรมาส 2 ปี 2555 โดยมีข้อตกลงว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะยังถือหุ้นนาน 5 ปี

“เรารวมกันไม่ใช่เพื่อหนีตายหรือลดต้นทุน แต่เกิดพลังร่วมทางธุรกิจหรือ SYNERGY ทำให้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้น สามารถหาโอกาสจากการเปิดเสรี ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยเฉพาะลูกค้า ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน ซึ่ง 1+1 ครั้งนี้ผมอยากให้ได้ผลลัพธ์มากกว่า 20”

การควบรวมครั้งนี้มี 3 อย่างคือ 1.ควบรวมที่มูลค่าตลาด ไม่มีการจ่ายพรีเมียม 2.กิจการมีขนาดใกล้เคียงกัน 3.รวมกันทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง คือ ขยายฐานลูกค้า และตลาด โดย KK มีลูกค้า 3 แสนราย ส่วนภัทร 1,000 ราย ส่วนแนวตั้งคือสินค้าและลูกค้าไม่ซ้ำกัน สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ 4.เพิ่มธุรกิจใหม่ๆ และไม่เกิดความเสี่ยงถ้าเสี่ยงที่สุดคือ ทุกอย่างยังอยู่

ส่วนอนาคตของธนาคารเกียรตินาคินหลังการควบรวมจะทำให้มูลค่ามาร์เก็ต แคปเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 2.1 แสนล้านบาท รายได้รวมเพิ่มเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท และกำไรรวม 3,800 ล้านบาท ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์มีมาร์เก็ตแชร์เป็น 6.14% ขึ้นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์

ถึงเวลานี้บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ที่ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์หรือต่างประเทศหนุนหลังกำลังถูกจับตามองว่าจะปรับตัวกันอย่างไร ซึ่งมีโอกาสควบรวมกิจการมากขึ้น ทำให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อหุ้นบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา (TRITY) และบล.เอเซีย พลัส (ASP) มากผิดปกติ จนผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นแรงสวนทางตลาดหุ้นโดยรวมที่ดัชนีร่วงลงหนักถึง 9.24 จุด ปิดที่ระดับ 1,034 จุด