posttoday

นักวิเคราะห์ขาดแคลน

22 สิงหาคม 2554

วิจัยคุณภาพด้อยงานลดความถี่ลงจี้ทุกฝ่ายแก้ด่วน

วิจัยคุณภาพด้อยงานลดความถี่ลงจี้ทุกฝ่ายแก้ด่วน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ลดลงต่อเนื่องเข้าขั้นขาดแคลน หวั่นกระทบคุณภาพบทวิจัย วิเคราะห์ตัวหุ้นสม่ำเสมอต่ำเป้าแผนพัฒนาตลาดทุน

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนนักวิเคราะห์ในอุตสาห กรรมหลักทรัพย์มีจำนวนลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับดัชนีหุ้นไทยและมูลค่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนเรียกได้ว่าเข้าสู่ภาวะขาดแคลนและมีน้อยเกินความเหมาะสมเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นและความต้องการบทวิจัย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนนักวิเคราะห์ลดลงเรื่อยๆ จากปี 2549 มีจำนวน 345 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 263 คน ส่งผลให้จำนวนหุ้นที่มีการทำบทวิจัยปรับตัวลดลงตามไปด้วย สังเกตได้จากจำนวนหุ้นที่มีการทำคอนเซนซัสลดลงจาก 250 บริษัท เหลือเพียง 100 บริษัท และจำนวนหุ้นที่มีการทำบทวิจัยสม่ำเสมอมีเพียง 163 บริษัท จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 600 บริษัท หรือคิดเป็น 27% ของทั้งตลาด ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ต้องการให้มีจำนวนหุ้นที่ถูกทำบทวิจัยสม่ำเสมอในสัดส่วน 50% ของหุ้นทั้งหมดภายในปี 2556

สาเหตุที่ทำให้จำนวนนักวิเคราะห์ลดลง เป็นเพราะการเปิดเสรีอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการควบรวมของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) 4 แห่ง ขณะที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นจนทำให้ บล.หลายแห่งลดจำนวนนักวิเคราะห์เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยเข้าใจผิดว่าต้นทุนที่ลดลงจะสามารถนำไปลดค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) ให้กับลูกค้าได้ ทั้งๆ ที่จากการศึกษาพบว่าต้นทุนนักวิเคราะห์ไม่มีนัยสำคัญต่อค่าคอมมิชชัน

นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการยกเลิกเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดให้ บล.ต้องมีนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างน้อย 4 คนต่อบริษัท ซึ่งใช้บังคับมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว

นายสมบัติ กล่าวว่า จำนวนนักวิเคราะห์ที่ลดลงไม่สอดคล้องกับการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุน การยกเลิกการคุ้มครองเงินฝาก ขณะที่ตลาดทุนในอนาคตจะมีความเสี่ยงมากขึ้น จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้บทวิจัยเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุน และหากจำนวนนักวิเคราะห์มีน้อยเกินไป ก็อาจจะกระทบกับคุณภาพของบทวิจัยอีกด้วย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.สนับสนุนให้มีบุคลากรในตลาดทุนมากขึ้น ทั้งผู้ติดต่อกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนแต่โดยส่วนตัวอยากให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์ คือ การกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์หรือความต้องการบทวิเคราะห์ หลังจากนั้น บล.จะเล็งเห็นความสำคัญและเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์ให้มากขึ้น