posttoday

เรียนพิเศษค่าใช้จ่ายพิเศษ

22 พฤษภาคม 2554

เชื่อได้เลยว่า ในรายการค่าเล่าเรียนของลูก จะต้องมี “ค่าเรียนพิเศษ” เป็นอีกหนึ่งรายการใหญ่ให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ตาโตอยู่แน่ๆ เพราะค่าเรียนพิเศษนั้นแสนจะ “สูงเป็นพิเศษ”

เชื่อได้เลยว่า ในรายการค่าเล่าเรียนของลูก จะต้องมี “ค่าเรียนพิเศษ” เป็นอีกหนึ่งรายการใหญ่ให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ตาโตอยู่แน่ๆ เพราะค่าเรียนพิเศษนั้นแสนจะ “สูงเป็นพิเศษ”

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

ไม่รู้ว่าในใบเสร็จอันบิ๊กเบิ้มที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย นำมาป่าวประกาศว่า ผู้ปกครองสมัยนี้มีโอกาสน้ำตาตกใน เพราะอาการ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ได้ไม่ยากนั้น จะมีรายการ “ค่าเรียนพิเศษ” อยู่ในนั้นด้วยไหม

เชื่อได้เลยว่า ในรายการค่าเล่าเรียนของลูก จะต้องมี “ค่าเรียนพิเศษ” เป็นอีกหนึ่งรายการใหญ่ให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้ตาโตอยู่แน่ๆ เพราะค่าเรียนพิเศษนั้นแสนจะ “สูงเป็นพิเศษ” เหมือนชื่อเรียกของมันจริงๆ และที่สำคัญ คือ ยิ่งลูกโตขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าค่าเรียนพิเศษก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ค่าเรียนพิเศษยังไม่มีคำว่าปิดเทอมอีกด้วย

เรียนพิเศษค่าใช้จ่ายพิเศษ

ถ้าลองไปเปิดหนังสือ “เงินทองต้องใส่ใจ เล่ม 1 การวางแผนการเงินส่วนบุคคล” น่าจะทำให้ผู้ปกครองรู้สึกเย็นวาบไปจนถึงก้นกระเป๋าสตางค์ได้เลย เพราะในหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวม “อัตราค่าเรียนเฉลี่ยของสถาบันกวดวิชา” เอาไว้ ซึ่งทำให้เห็นว่าค่าเรียนพิเศษต่อคอร์สมีตั้งแต่ 1,900 บาท ไปจนถึง 5,900 บาท

เด็กคนหนึ่งไม่ได้เรียนพิเศษแค่ 1 วิชาในหนึ่งเทอม เพราะจากการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนพิเศษของเด็กในระดับชั้นมัธยมปลายหลายๆ ชิ้น โดยเฉพาะเรื่องผลสัมฤทธิ์ของการกวดวิชาและการสอบคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดย สุวิมล จีระทรงศรี ทำให้เห็นว่ามีนักเรียนมากกว่าครึ่งที่เรียนพิเศษ 3-4 วิชาในแต่ละเทอม และอีกจำนวนไม่น้อยที่เรียน 5-6 วิชาในแต่ละเทอม

ดังนั้น หากลองคิดคร่าวๆ ว่า ค่าเรียนพิเศษเฉลี่ยคอร์สละ 3,000 บาทต่อหนึ่งวิชา ลูกเรียนเทอมละ 4 วิชา ก็ต้องใช้เงินพิเศษนอกจากค่าใช้จ่ายปกติในการเปิดภาคเรียนอีกประมาณ 1.2 หมื่นบาท และไม่ได้เรียนแค่เทอมเดียว แถมในช่วงปิดภาคเรียนทั้งปิดเทอมใหญ่และปิดเทอมเล็กยังมีเวลาว่างให้ได้เรียนกันอีก รวมๆ กันเป็นค่าเรียนพิเศษประมาณ 4.8 หมื่นบาท

งานวิจัยของ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ พบว่า นอกจากค่าเรียนพิเศษแล้ว เด็กๆ ที่ไปเรียนพิเศษยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าอาหาร และค่าเดินทาง อีกปีละ 1.4 หมื่นบาท

ทั้งหมดก็แค่ปีละ 6.2 หมื่นบาท เท่านั้นเอง!!!

ไม่ใช่เฉพาะผู้ปกครองของเด็กในเมืองกรุงเท่านั้นที่ต้องมีค่าเรียนพิเศษ ผู้ปกครองของเด็กต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน จากการสำรวจเด็กนักเรียนมัธยมปลายใน จ.เชียงใหม่ ของ ถนิมภรณ์ อินทแกล้ว พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการกวดวิชาเทอมละไม่เกิน 5,000 บาท รองลงมาจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 5,001-1 หมื่นบาทเท่านั้น

แต่อาจจะไม่หมดแค่นั้น เพราะในกรณีที่เด็กๆ อยากจะมากวดวิชาในเมืองกรุงในช่วงปิดภาคเรียน ก็ต้องไปหาห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ และค่าเดินทาง

ตัวเลขค่าใช้จ่ายพวกนี้อาจจะดู “ไม่จริง” สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในที่นั่งเดียวกับพ่อแม่ที่มีลูกในวัยเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ลองไปฟัง “เสียงของเด็กๆ” ว่า พวกเขาจ่ายกันเท่าไร และคิดอย่างไรกับรายจ่ายพิเศษรายการนี้ จากกระทู้เรื่อง “กวดวิชาแต่ละที เสียกันไปกี่บาท?” ที่โพสต์คำถามไว้เมื่อ 30 พ.ค. 2554 ในเว็บไซต์ dek-d.com

ชื่อ Hippo_art “ของหนูเรียนทุกอย่างค่ะ ทั้ง ไทย-สังคม ฟิสิกส์ เคมี คณิต อังกฤษ เรียนแบบนี้ทุกเทอมค่ะ ตั้งแต่ มอ 4 จนถึง มอ 6 ก้อหมดไปหลายหมื่น แต่ก่อนหน้านี้หนูก้อเรียนพิเศษมาตั้งแต่ประถม 5 แล้วค่ะ รวมทั้งหมดก้อเปนแสนแล้ว เหนจำนวนเงินแล้วน้ำตาจะไหลเลยค่ะ T^T”

ชื่อ ใบไม้ในสายลม “เรียนฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ รวมๆ แล้วค่าเรียนค่าขนมก็เทอมละ 10,000 บาท อะค่ะ T^T แพงกว่าค่าเทอมที่โรงเรียนอีก”

ชื่อ fr* “เฉพาะเปิดเทอมนี้ ก็ 2 หมื่นกว่าๆ แล้ว ยังไม่รวมปิดเทอมอีกหมื่นกว่าๆ ทำไมเราเรียนเยอะขนาดนี้เนี่ย T^T”

ชื่อ amdd : ) “เลข 2,500 วิทย์ 3,000 ฟิสิกส์ 3,200 เลข 3,500 อันนี้เฉพาะเทอมเดียวนะ”

ชื่อ พลอย “รวมแค่ปิดเทอมก็ 19,500 ค่ะ เปิดเทอมก็ 17,300 สรุปคือ แค่ปิดเทอมใหญ่+เปิดเทอมหมดไป 36,800 นี่ยังไม่รวมค่ากิน ค่ารถ แล้วก้ออารายอีกเยอะแยะนำ T^T เด๋วปิดเทอมเล็กก้อ|จ่ายอีกแล้ว แล้วไหนจาเรียนพิเศษมาตั้งแต่ ป.4 ค่าเรียนเปียโนอีก คิดแล้วเสียดายตังงงงงงง กว่าจาจบ ม.6 คงเป็นแสน”

ชื่อ ไก่จุนจุน “เทอมนี้นะ (6/1) เลข 4,400 ฟิสิกส์ 4,200 เคมี 2,800 อังกฤษ 2,800 ประมาณ หมื่นสองกว่า!!! เทอมนี้ ม.6 ค่าสอบตรง ก็จ่ายไปหลายพันละ ส่วนเทอม 6/2 ที่ลงไปแล้ว ชีวะ 5,000 กับสนใจ อังกฤษ 2,800 น่าจะไม่มีอีกแล้วล่ะมั้ง ไม่กล้ารวมค่าใช้จ่ายจิปาถะ อันอื่น เช่น ค่ารถ ค่ากิน กลัว!!!”

ชื่อ Cafe Le. Rose’ “เพื่อนหนูเสียไปรวมทั้งสิ้น 45,000 บาทค่ะ แบบว่ามากมาย แต่ว่าวาไม่ค่อยได้เรียนพิเศษมาก แม่บอกว่าไม่ต้องไปเรียน แม่ยังจบมาได้เลยลูก แม่คะ สมัยแม่มี GAT PAT แบบหนูมั้ยคะแม่ ก็เข้าใจค่ะว่า แม่สอนให้ประหยัดค่ะ แต่สถานการณ์แบบนี้ ประหยัดก็เอาหนูไม่อยู่แล้วค่ะแม่ขา ค่าเรียนพิเศษวาก็ประมาณ 4,000-5,000 นี่แหละค่ะ ไม่มากไปกว่านั้น

ที่เพื่อนๆ เรียนพิเศษ เพราะว่าอยากแอดติด สอบติด อย่างที่หลายๆ สถาบันโฆษณา และบอกไว้ แต่อย่าลืมตั้งใจให้คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไปด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่ได้อะไรเลยค่ะ เสียอย่างเดียวเลย ไม่ใช่น้อยๆ ด้วย”

ถ้าฟังเสียง (ผ่านตัวหนังสือ) ของเด็กๆ จะเห็นว่า มีแต่ “คราบน้ำตา” ให้กับค่าเรียนพิเศษที่อยู่ในระดับ “เป็นแสน” ในขณะที่อีกหลายๆ เสียงยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเสียเงินเรียนพิเศษให้มากมายก็สามารถสอบติดและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้
แต่ถ้าไปถามเด็กๆ จะพบว่า มากกว่า 80% มีการเรียนกวดวิชา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถสอบเข้าในคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้

ในการวางแผนเพื่อการศึกษา ส่วนใหญ่จะคิดถึงแต่การเตรียมเงินเพื่อให้ลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทว่าจะต้องเตรียมเงินเท่าไร มีวิธีการไหนบ้างที่จะทำให้เงินออมในส่วนนี้งอกเงยขึ้นมา เพื่อที่จะเอาชนะเงินเฟ้อที่เป็นศัตรูตัวร้ายคอยกัดกินเงินออมให้ด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ

แต่หนังสือ “เงินทองต้องใส่ใจ” ทิ้ง “คำถามชวนคิด” เอาที่ท้ายเรื่องการวางแผนการศึกษาบุตรว่า “ถ้าต้องการให้ลูกเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง คุณจำเป็นต้องให้ลูกเรียนกวดวิชาหรือไม่ หากจำเป็นต้องเรียน จำนวนกี่วิชา และคิดเป็นเงินเท่าไร”

และอีกคำถามที่ต้องต่อท้ายคำถามชวนคิดข้อนี้ คือ แล้วเราจะหาเงินที่ว่านั้นมาจากที่ไหน ต้องวางแผนแยกต่างหากจากแผนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเลยหรือไม่

ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้วางแผนเป็นกรณีพิเศษ สำหรับค่าใช้จ่ายเฉพาะการเรียนพิเศษ เพราะอาจจะใช้ “สภาพคล่อง” ในปัจจุบันมากกว่าการวางแผนระยะยาว และถ้าครอบครัวไหนสภาพคล่องไม่คล่องมากพอ ค่าเรียนพิเศษอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น

แต่ไม่ต้องเป็นกังวลมากนัก หากเราโชคดีมีลูกรักเรียน เพราะใช่ว่าคนที่ฐานะดีมีเงินส่งลูกเรียนพิเศษก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ลูกได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจได้เสมอไป โดยในงานวิจัยของ สุวิมล พบประเด็นที่น่าตกใจอีกว่า...

เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยของครอบครัวน้อยกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน มีโอกาสสอบได้คณะ/มหาวิทยาลัยที่ต้องการเรียนได้มากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 7 หมื่นบาทต่อเดือน ถึง 4 เท่าตัว

เพราะฉะนั้นอย่ากลัวที่จะปฏิเสธคำขอที่จะเรียนพิเศษของลูก แต่ถ้ามีสภาพคล่องมากพอก็คงไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่ต้องแน่ใจว่าลูกจะได้ความรู้พิเศษคุ้มค่ากับค่าเรียนพิเศษ