posttoday

ขีดเส้นตายประกันภัย 5 ปี ต้องมีนักคณิตศาสตร์ระดับเฟลโล

31 มกราคม 2554

ธุรกิจประกันภัย กำลังถูกมาตรฐานสากลบีบบังคับให้ต้องเดินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ ทุกบริษัทจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นสมาชิกระดับเฟลโล....

ธุรกิจประกันภัย กำลังถูกมาตรฐานสากลบีบบังคับให้ต้องเดินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ ทุกบริษัทจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นสมาชิกระดับเฟลโล....

โดย...วารุณี อินวันนา

ธุรกิจประกันภัย กำลังถูกมาตรฐานสากลบีบบังคับให้ต้องเดินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ ทุกบริษัทจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นสมาชิกระดับเฟลโล ทำหน้าที่รับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยภายใน 5 ปีนับจากปี 2554 หรือ ภายในเดือนก.พ.2559 โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายบังคับ

ขณะที่ประเทศไทยในปัจจุบัน มีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟล เพียงแค่ 8 คน และ 2 คนทำงานในต่างประเทศ เหลือเพียง 6 คนที่ทำงานในประเทศ เทียบกับจำนวนบริษัทประกันวินาศภัย 67 บริษัท และบริษัทประกันชีวิต 24 บริษัท แน่นอนว่าบุคลากรด้านนี้ขาดแคลนอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม นายสุชิน  พงษ์พึ่งพิทักษ์ นายกสมาคม นักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จำนวนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไทยมีจำนวนน้อย แต่บริษัทประกันวินาศภัยขนาดใหญ่และบริษัทประกันชีวิต ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านนี้  เพราะได้ว่าจ้างนักคณิตรศาตร์ระดับเฟลโลจากต่างชาติเข้ามานั่งคำณวณราคา ต้นทุน เงินสำรอง ต่างๆ อย่างน้อยบริษัทละ 1 คน ถ้าบริษัทใหญ่จะมากกว่า 1 คน

 

ขีดเส้นตายประกันภัย 5 ปี ต้องมีนักคณิตศาสตร์ระดับเฟลโล สุชิน

ปัญหาหนัก จึงตกอยู่ที่บริษัทประกันภัยขนาดเล็กๆ ซึ่งรวมกันมีจำนวนถึง 37 บริษัท และบริษัทขนาดกลางอีกบางส่วน ทางออกของกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีอยู่ 2 ทาง คือ การว่าจ้างนักคณิตศาสตร์ประกันภัย กับ ยอมทุ่มเงินลงทุนว่าจ้างนักคณิตศาสตร์ระดับเฟลโลเป็นของตัวเอง จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อปีต่อคน เพราะเพียงแค่นักศึกษาจบใหม่ยังมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1.9 หมื่นบาท

เมื่อดูเม็ดเงินค่าจ้าง เป็นภาระหนักสำหรับบริษัทขนาดเล็ก จึงมีแนวโน้มสูงที่จะหันไปใช้บริการที่ปรึกษา แต่ใช่ว่าค่าใช้จ่ายจะถูก เพราะนอกจากนักคณิตศาสตร์จะมีค่าตัว หรือ ค่าไลเซ่นส์ ส่วนตัวแล้ว ยังบวกค่าใช้จ่ายของบริษัทเข้าไปอีก หากเป็นบริษัทที่ปรึกษาขนาดใหญ่ก็จะบวกค่าใช้จ่ายสูง ถ้าเป็นบริษัทเล็กค่าใช้จ่ายจะต่ำ เช่น บริษัทที่ปรึกษาต่างชาติคิดค่าใช้จ่ายชั่วโมงละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

ทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยไทย เริ่มออกมาจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษา เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต ที่คาดว่าจะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายกว่าบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติ เพราะเจรจากันได้ง่าย และราคาต่ำกว่า

บทบาทสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย

สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสายตาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยไทย(คปภ.) และ สมาคมประกันวินาศภัย ร่วมกันผลิตนักคณิตศาสตร์ประกันภัยออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งหน้าใหม่ และ สนับสนุนให้หน้าเก่าเข้าสอบมาตรฐานสากลระดับที่สูงขึ้นไปจนถึงเฟลโล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยขนาดเล็กในอีก 5 ปีข้างหน้า

นายสุชิน กล่าวว่า บทบาทของสมาคมฯคือ 1.ขณะนี้สมาคมฯได้เดินสายไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีภาควิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อเสนออาชีพนี้ว่ายังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก และ เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ระดับเดียวกับการเรียนวิศวะ และ แพทย์ เช่น ที่ฮ่องกง ร้านขายของชำจะรู้ว่านักคณิตศาสตร์มีความรู้และรายได้ทัดเทียมกับแพทย์และวิศวกร

2.ช่วยพัฒนาทักษะของนักคณิตศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

3.ทำงานร่วมกับคปภ.เพื่อเสนอความเห็นต่างๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา วิจัยธุรกิจ

สำหรับแผนเร่งด่วนก่อนที่จะใช้เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามประเภทความเสี่ยง หรือ อาร์บีซี คือ การสร้างมาตรฐานอ้างอิงในการคำนวณเงินสำรอง ที่จะต้องใช้ดุลพินิจของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน

“เช่น การคำนวณเงินสำรอง จะต้องใช้อัตรามรณะ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยสถิติย้อนหลังของการรับประกันภัยของบริษัทในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาคือ บริษัทขนาดเล็ก มีสถิติน้อย การกระจายความเสี่ยงกระจุกตัวไม่ดีพอ จึงใช้ดุลพินิจนี้ไม่ได้ จำเป็นจะต้องไปใช้อัตรามรณะของอุตสาหกรรม เป็นตัวตั้งแล้วทอนออกมาเป็นสถิติของบริษัทอีกทอดหนึ่ง”นายสุชิน กล่าว

งานเร่งด่วน คือ 1.ต้องพัฒนาแนวทางการใช้ดุลพินิจให้นักคณิตศาสตร์นำไปใช้

2.การหาค่าสถิติกลางของธุรกิจ เพื่อให้แต่ละบริษัทนำไปกำหนดราคาได้ในอนาคต ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยส่วนใหญ่จะมีปัญหามากเรื่องการกำหนดราคา แม้ว่าคปภ.จะมีเพดานสูง ต่ำไว้ เพราะยังขาดนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้ามาดูแลอย่างเข้มงวด แต่บริษัทประกันชีวิตไม่มีปัญหาเรื่องนี้

กฎหมายบังคับ หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้บริษัทประกันภัยจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดภายใน 8 ปีนับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยมีคุณสมบัติ 

1) สำเร็จการศึกษาทางคณิตศาสตร์ประกันภัยตามหลักสูตรหรือวิชาที่นายทะเบียนประกาศกำหนดจากสถาบันการศึกษาที่ ก.พ. รับรอง และปฏิบัติงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือสถิติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยที่นายทะเบียนประกาศกำหนดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ

2) เป็นสมาชิกระดับเฟลโลของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

สำหรับ ธุรกิจประกันชีวิตที่มีความพร้อมมากกว่า เมื่อพ้นเดือนก.พ. 2559 นักคณิตศาสตร์ที่จะทำหน้าที่รับรองรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จะต้องเป็นสมาชิกระดับเฟลโลของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่นายทะเบียนกำหนด

ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยที่ปัจจุบัน ยังมีความพร้อมด้านนักคณิตศาสตร์ประกันภัยน้อยกว่า กฎหมายจึงยกเว้นให้ โดยผู้ที่ทำหน้าที่รับรองรายงานคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัยอยู่ขณะที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้อีกจนถึงก.พ. 2559 เป็นต้น

นั้นหมายความว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกระดับเฟลโล เมื่อถึงก.พ.2559 ก็จะขาดคุณสมบัติในการรอบรองรายงานของบริษัทประกันวินาศภัยไปโดยปริยาย

กว่าจะได้ “เฟลโล”

ปัจจุบัน มี 2 องค์กรวิชาชีพชั้นนำด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ทั่วโลกให้การยอมรับ คือ ซีเอเอส ย่อมาจาก Casualty Actuarial Society  เป็น องค์กรวิชาชีพสำหรับนักคณิตศาสตร์ด้านประกันวินาศภัย และ เอสโอเอ ย่อมาจาก Society of Actuaries เป็นองค์กรวิชาชีพสำหรับนักคณิตศาสตร์ด้านประกันชีวิต ซึ่งระดับเฟลโล เป็นมาตรฐานวิชาชีพสูงสุดของทั้ง 2 องค์กร จาก 2 ระดับคือ ระดับแอสโซซิเอท กับ ระดับเฟลโล

ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้เป็นสมาชิกระดับเฟลโล หรือ มาตรฐานเฟลโล หลังจากจบคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ ปริญญาตรีสาขาอื่นก็ได้หากมีความสามารถด้านการคำนวณ สามารถที่จะไปเรียนต่อเพิ่มเติมอีก 7 วิชาตามเกณฑ์ของทั้ง 2 องค์กร น่าเสียดายที่ยังไม่มีหน่วยงานใดแปลวิชาเหล่านี้เป็นภาษาไทย จึงขอยกมาเป็นภาษาอังกฤษ เพราะการเรียนและการสอบใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งในปี 2549 กำหนดว่าจะต้องเรียนวิชา  Probability,Financial Mathematics,Actuarial Models,Construction and Evaluation of Actuarial Models,Introduction to Property and Casualty Insurance and Ratemaking,Reserving, Insurance Accounting Principles, and Reinsurance และ Annual Statement, Taxation and Regulation  เมื่อผ่านจะได้มาตรฐานระดับแอสโซซิเอท

หลังจากนั้น จะต้องเรียนเพิ่มอีก 2 วิชา จึงจะได้มาตรฐานระดับเฟลโล ประกอบด้วย วิชา Investments and Financial Analysis และ วิชา Advanced Ratemaking, Rate of Return, And Individual Risk Rating Plans ซึ่งวิชาต่างๆ เหล่านี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือ เพิ่มเติม ได้

สำหรับ สมาชิกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ที่เป็นสมาชิกระดับเฟลโลทั้งชาวไทยและต่างประเทศรวมกันมีจำนวน 35 คน และสมาชิกระดับแอสโซซิเอท 3 คน จากสมาชิกทั้งหมด 100 คน

การกำหนดคุณสมบัติของนักคณิตศาสตร์สูงระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้บริษัทประกันเข้าสู่การคำนวณราคา เงินสำรอง ตามหลักวิชาการมาตรฐานสากล ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกของเถ้าแก่ในการคำนวณเหมือนปัจจุบันที่เมื่อต้องการสภาพคล่องก็ลดราคาลงมาสู้กันจนบริษทเจ๊ง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเช่นทุกวันนี้