posttoday

แนะรัฐเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม 1 ล้านล้าน แจกสวัสดิการประชาชน

26 มิถุนายน 2565

แนะรัฐเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม 1 ล้านล้าน แจกสวัสดิการประชาชน ป้องกันงบประมาณขาดดุลทะลุเพดาน

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า รัฐบาลต้องตั้งเป้าขยายฐานภาษีใหม่เพื่อนำมาพัฒนาประเทศและสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2576 โดยควรตั้งเป้าเก็บภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ภาษีมรดก ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากตลาดการเงิน ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมา เชื่อว่า ประเทศไทยจะประสบปัญหาฐานะทางการคลังอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะแรงกดดันทางนโยบายที่ต้องปรับลดสวัสดิการบางอย่างลง

ทั้งนี้ รัฐสวัสดิการสามารถเริ่มต้นทยอยดำเนินการได้เลยจากงบประมาณปี พ.ศ. 2566 ก่อนหน้านี้ อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายเรียนฟรี

สำหรับ สวัสดิการเพิ่มเติม สามารถดำเนินการได้เลยในส่วนของบำนาญถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน สวัสดิการสำหรับเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,500 บาท การดูแลสุขภาพ การตั้งครรภ์ ความพิการและการเสียชีวิต สวัสดิการการว่างงาน หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ สวัสดิการสำหรับผลประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย บำนาญ เบี้ยยังชีพ การประกันสำหรับผู้สูงวัย

สำหรับประเทศไทยนั้นมี รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีพีดีเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% เท่านั้น คิดเป็นประมาณ 20-23% ของงบประมาณในปีช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศสแกนดินีเวียจะมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีสูงที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 29-30% ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีไม่สูงมากอยู่ที่ 15-16%

"ประเทศรัฐสวัสดิการ จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า มีสัดส่วนรายรับรวมทางภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) เฉลี่ยอยู่ที่ 35 – 48% ส่วนโครงสร้างระบบภาษีของไทยขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลัก สัดส่วนรายได้จากภาษีเทียบจีดีพีคิดเป็น 14.6% เท่านั้น (ต่ำค่าเฉลี่ยของโลกที่ 14.9%)" ดร.อนุสรณ์ กล่าว