posttoday

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”

24 มิถุนายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสล่าสุด ไม่ได้แตกต่างจากที่ตลาดรับรู้มากนัก

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้ในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสล่าสุด ไม่ได้แตกต่างจากที่ตลาดรับรู้มากนัก ขณะที่ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดูจะชะลอลง จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงไปมากนัก ( ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ระบุว่า ตลาดมอง เฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดที่ระดับ 3.75% ลดลงจากที่เคยมองว่า เฟดอาจขึ้นได้ราว 4% หรือสูงกว่านั้น) ซึ่งมุมมองดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Amazon +3.2%, Apple และ Microsoft +2.0% หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พลิกกลับมา +1.62% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาด +0.95%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลดลง -0.82% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก หลังล่าสุดรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนมิถุนายน ของยูโรโซนได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 52.0 จุด และ 52.8 จุด ตามลำดับ ซึ่งแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าขายหุ้นยุโรป นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร Santander -2.7%, UBS -2.5%

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฯ จะพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทว่า ผู้เล่นบางส่วนยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว และเลือกที่จะเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากขึ้นทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.09% นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่เริ่มปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟดในรอบนี้(Terminal Rate) เหลือ 3.75% ก็มีส่วนที่ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวทยอยปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังคงมีโอกาสผันผวนต่อจนกว่า ตลาดจะมั่นใจว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง จนทำให้ จุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายเฟด หรือ Terminal Rate สูงกว่าที่ตลาดมองไว้ ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่ตลาดรับรู้ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน รวมถึงผลการประชุมเฟดในเดือนกรกฎาคมก่อน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.4 จุด แม้ว่าเงินดอลลาร์จะถูกกดดันโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินฝั่งยุโรป หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับรายงานข้อมูล PMI ล่าสุด ซึ่งทำให้ เงินยูโร (EUR) กลับมาอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.052 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ย่อตัวลงแตะระดับ 1.226 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก็กดดันให้ราคาทองคำผันผวนหนักและปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 1,825 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของฝั่งอังกฤษและเยอรมนี หลังจากที่ล่าสุด ตลาดได้ผิดหวังกับรายงานดัชนี PMI ของยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาดในวันก่อนหน้า โดยในฝั่งอังกฤษ ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะกดดันให้การใช้จ่ายของผู้คนอาจชะลอตัวลง ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคมที่อาจหดตัว -0.7%m/m นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว จะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (IFO Business Climate) ที่จะลดลงสู่ระดับ 92.7 จุด ในเดือนมิถุนายน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า ในระยะสั้นนี้ เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าในช่วงระหว่างวันไปทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทล่าสุดอ่อนค่าแตะแนวต้านก่อนหน้าที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็น แนวโน้มเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งแกร่งและมีแรงหนุนต่อเนื่อง กอปรกับ แรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ในระหว่างวัน ควรจับตาความผันผวนของเงินบาท ผ่านความผันผวนของเงินยูโร ในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป ซึ่งหากแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้มากก็อาจกดดันให้ตลาดเดินหน้าขายเงินยูโร กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงและยิ่งหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในระยะสั้นได้ อนึ่ง เรามองว่า แรงหนุนฝั่งแข็งค่าของเงินบาทก็อาจจะมาการโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำได้เช่นกัน หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นแตะโซนแนวต้านแถว 1,840-1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.60 บาท/ดอลลาร์