posttoday

EIC ชี้รายได้น้อย 7 ล้านครัวเรือน เจอพิษเงินเฟ้อซ้ำเติมภาระมากขึ้น

14 มิถุนายน 2565

EIC ชี้พิษเงินเฟ้อซ้ำเติมคนายได้น้อย 7 ล้านครัวเรือน ทำให้สถานะทางการเงินถดถอยลง รายได้ลดแต่หนี้เพิ่ม

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทย ที่จะเร่งตัวสูงถึง 5.9% เฉลี่ยทั้งปีนี้ (เดิม 4.9%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี ท่ามกลางการทยอยลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ จะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงชะลอการลงทุนในภาคธุรกิจลง

โดย EIC วิเคราะห์ว่ารายได้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตช้าตามตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพที่เร่งตัวสูงในปีนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งมีจำนวนถึงกว่า 7 ล้านครัวเรือนหรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด ที่ปัญหาเงินเฟ้อสูงในปีนี้จะส่งผลซ้ำเติมทำให้สถานะทางการเงินถดถอยลง ทั้งจากสภาพคล่องที่ลดลงและหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากครัวเรือนบางส่วนที่ต้องกู้มาใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ ถือเป็นความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทยที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจจะประสบปัญหาจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งยังสามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้จำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น (discretionary)

ด้านนโยบายการเงิน EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาและชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า) ของครัวเรือนปรับมาอยู่ที่ 3.1% ในเดือนพฤษภาคม 2565 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ) ในปัจจุบันยังติดลบและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากไทยและเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลง

ทั้งนี้การลดระดับการผ่อนคลายสูงของนโยบายการเงิน (ultra-easy monetary policy) จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบางและมีแผลเป็นจากวิกฤตโควิด ทั้งการว่างงาน รายได้ที่ฟื้นตัวช้า และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงราว 3.6% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าในทิศทางเดียวกันและใกล้เคียงกับสกุลอื่นในภูมิภาค EIC มองว่า ในระยะสั้นค่าเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และความเสี่ยงของภาวะสงคราม ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2565 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับดีขึ้นตามดุลภาคบริการ โดย ณ สิ้นปี 2565 EIC คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ