posttoday

สตง.โชว์ปี 64 สอบ 2,832 คดี ปกป้องเงินแผ่นดิน 4,200 ล้านบาท

02 มิถุนายน 2565

สตง.โชว์ผลงาน 64 สอบ 2,832 หน่วยงาน ปกป้องเงินแผ่นดิน 4,200 ล้านบาท

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบหน่วยรับตรวจซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ กองทุนและเงินหมุนเวียน และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 9,848 หน่วยงาน (รวมจำนวนผลผลิตการตรวจเงินแผ่นดิน 17,021 รายงาน/สัญญา/ประกาศ/เรื่อง/โครงการ) พบข้อบกพร่องและได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสิ้น 2,832 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.76 ของหน่วยรับตรวจที่ สตง. ตรวจสอบ รวมถึงแจ้งให้หน่วยรับตรวจดำเนินการชดใช้เงินคืน หรือจัดเก็บรายได้เพิ่ม หรือป้องกันความเสียหาย หรือดำเนินการมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 4,224.90 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดินสามารถจำแนกตามลักษณะงานตรวจสอบได้ดังนี้

1. การตรวจสอบการเงิน จากการตรวจสอบการเงินของหน่วยรับตรวจ จำนวน 8,452 หน่วยงาน รวม 8,711 รายงาน พบว่ามีการจัดทำรายงานการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายบัญชีภาครัฐ หรือมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดย สตง. ได้แสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างมีเงื่อนไข แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง และไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน รวมจำนวน 812 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.33 ของรายงานที่ตรวจสอบ ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายการที่มีจำนวนเงินสูงอย่างมีสาระสำคัญหลายรายการ เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบระบบสารสนเทศของหน่วยรับตรวจ จำนวน 11 หน่วยงาน รวม 11 ระบบ ยังพบข้อสังเกตที่สำคัญ อาทิ ไม่มีการปฏิบัติตามนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ ไม่มีการซักซ้อมหรือทดสอบแผน รวมถึงมีการควบคุมการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ หรือไม่มีการควบคุมให้ปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่ง สตง. ได้มีการประชาสัมพันธ์ผลงานการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้หน่วยรับตรวจและประชาชนได้รับทราบเพื่อเป็นกรณีศึกษาในเชิงการบริหารจัดการแล้ว

2. การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย จากการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการเงิน ด้านการจัดเก็บรายได้ ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบกรณีพิเศษ และตรวจสอบเชิงป้องกัน จำนวน 4,264 หน่วยงาน รวม 8,255 รายงาน/สัญญา/ประกาศ พบข้อบกพร่องรวม 4,602 รายงาน/สัญญา/ประกาศ คิดเป็นร้อยละ 55.75 ของรายงาน/สัญญา/ประกาศที่ตรวจสอบ โดยมีข้อบกพร่องสำคัญที่ตรวจพบ อาทิ การจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม รายได้อื่น ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา รายละเอียดของสัญญาหรือข้อตกลงไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นตามกฎหมาย ระเบียบหรือเงื่อนไขที่กำหนด การคำนวณราคากลางไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ฯลฯ รวมมูลค่าความเสียหายจากการที่ต้องเรียกเงินคืน รายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม และประมาณการมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินงานและความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,246.97 ล้านบาท

3. การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจ จำนวน 59 หน่วยงาน รวม 55 เรื่อง/โครงการ มีข้อตรวจพบทั้ง 55 เรื่อง/โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 และได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการมิให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,977.93 ล้านบาท โดยปรากฏข้อตรวจพบที่สำคัญในด้านประสิทธิภาพ/ความประหยัด เช่น ไม่มีการติดตามประเมินผลหรือมีระบบติดตามประเมินผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการล่าช้า หรือไม่มีการดูแลรักษาโครงการให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ดีอยู่เสมอ ด้านประสิทธิผล/ผลสัมฤทธิ์ เช่น การกำหนดวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด แผนการดำเนินงานไม่ครบถ้วน ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ฯลฯ

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า นอกเหนือจากผลงานด้านการตรวจสอบซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สตง. แล้ว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สตง. ยังได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) ของหน่วยงานระหว่างประเทศ 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear – Test-Ban Treaty Organization : CTBTO) และองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEAN Supreme Audit Institutions : ASEANSAI) รวมถึงมีการเผยแพร่ผลงาน บทความทางวิชาการต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานแก่หน่วยรับตรวจ และการให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อสอบถามแก่หน่วยรับตรวจ เป็นต้น

“สตง. ยังคงมุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติด้วยการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยรับตรวจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจเพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว