posttoday

เงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบหลาย 10 ปี ทำสินค้าแพง

20 พฤษภาคม 2565

EIC มองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องในปีนี้ กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มเติม

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ นำโดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และ 30 ปีตามลำดับ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาก็ปรับสูงขึ้นเร็วเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกที่ร้อนแรงเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและพลังงานเพิ่มขึ้น 2) ปัญหาอุปทานคอขวด (supply-chain disruption) รวมถึงนโยบายควบคุมโควิดของจีน ส่งผลให้อุปทานขาดแคลนและขยายตัวได้ไม่ทันต่ออุปสงค์ และ 3) สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตอกย้ำให้สถานการณ์ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์

เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยอุปสงค์และอุปทาน ขณะที่เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับสูงขึ้นจากปัจจัยอุปทานเป็นหลัก

เงินเฟ้อในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) ปรับสูงขึ้นจากทั้งปัจจัยด้านอุปทานที่เผชิญปัญหาคอขวด รวมถึงอุปสงค์ที่ฟื้นตัวเร็วจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมแพร่ระบาดที่รุดหน้ามากกว่า ขณะที่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) เป็นผลจากด้านอุปทานหรือต้นทุนเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวดี นอกจากนี้ ภายในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนายังมีการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่แตกต่างกัน โดยเงินเฟ้อในเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในฝั่งเอเชียเร่งตัวช้ากว่ากลุ่มเศรษฐกิจลาตินอเมริกา เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ราคาอาหารไม่ผันผวนมาก สัดส่วนราคาพลังงานในตะกร้าเงินเฟ้อมีน้อยกว่า และค่าเงินมีเสถียรภาพมากกว่า

EIC มองว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องในปีนี้ แต่อาจชะลอลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี และปรับลดลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ได้ในปี 2023 จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและปัญหาอุปทานคอขวดที่คาดว่าจะทยอยคลี่คลายลง การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่จะชะลอลงจากอุปทานแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจัยฐานต่ำที่จะทยอยหมดไป และผลของการดำเนินนโยบายของภาครัฐและธนาคารกลางที่จะตึงตัวขึ้นทำให้อุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจชะลอลง

ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 7 ครั้งในปีนี้ และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด อีก 3 ครั้งในปีหน้า นอกจากนี้ Fed จะเริ่มลดขนาดงบดุลเพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ (Quantitative Tightening: QT) ในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึง 1.75% ในปีนี้ และได้เริ่มลดขนาดงบดุลผ่านการปล่อยให้พันธบัตรที่ถือครองหมดอายุลงแล้ว เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มสิ้นสุดโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ (APP) ในช่วงสิ้นไตรมาส 2 และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจผ่าน 6 ช่องทาง คือ (1) กดดันการฟื้นตัวของการบริโภคจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อำนาจซื้อสินค้าของผู้บริโภคปรับลดลง (2) การลงทุนปรับชะลอลงจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นและความสามารถในการทำกำไรที่น้อยลง (3) นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นจะเป็นความเสี่ยงต่อภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ (4) ประเทศที่นำเข้าสุทธิมีแนวโน้มเผชิญการขาดดุลเพิ่มมากขึ้นและอาจนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงินในบางภูมิภาคได้ และ (5) รายได้ที่แท้จริงที่ลดลงจากภาวะเงินเฟ้อทำให้แรงจูงใจของแรงงานในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมีลดลง ตลาดแรงงานจึงตึงตัวขึ้น

เนื่องจากสินค้านำเข้าของไทยจำนวนมากถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ได้ใช้ในการบริโภคขั้นปลายหรือผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากนัก จึงทำให้เงินเฟ้อไทยมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้านำเข้าต่ำ นอกจากนี้ ถึงแม้ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่เงินเฟ้อไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่างจากภาครัฐ โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน สำหรับในระยะถัดไป อัตราเงินเฟ้อโลกจะส่งผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้นจากราคาพลังงานที่จะยังคงยืนอยู่ในระดับสูงและการทยอยลดการอุดหนุนราคาจากรัฐ แต่การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคจะมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อีกทั้ง ปัญหาอุปทานคอขวดที่จะคลี่คลายลงชัดเจนในปีหน้าจะทำให้อุปทานสินค้ามีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อจะทยอยลดลงได้