posttoday

แบงก์ชาติปูพรมแก้หนี้ครัวเรือน เล็งออกมาตรการรอบใหม่

15 พฤษภาคม 2565

แบงก์ชาติปูพรมแก้หนี้ครัวเรือน เล็งออกมาตรการรอบใหม่ เน้นกลุ่มแม่ค้า ผู้มีรายได้น้อย

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องบูรณาการความร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของคนไทย โดยมีมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มแม่ค้า คนรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น วิธีการเสริมรายได้ให้คนไทย เป็นต้น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่รายได้ไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และระหว่างนี้ต้องทำมาตรการปัจจุบันให้เกิดประสิทธิผล และเกิดรูปธรรม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการรวมหนี้ เป็นต้น

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนมี 5 แนวทาง ประกอบด้วย

1. ให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเงินกับประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ก่อนกู้ยืมหรือลงทุน เริ่มต้นจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

2. สถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อ และต้องดูเรื่องความสามารถชำระหนี้และต้องดูว่าหลังจากกู้แล้วมีเงินเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ แม้หากชำระหนี้ได้แต่เหลือเงินใช้น้อย ก็จะไม่ทำให้การแก้หนี้เกิดความยั่งยืน โดยไม่ได้กำหนดว่าหนี้ต่อรายได้ หรือดีเอสอาร์จะต้องอยู่ที่เท่าไร แต่ธปท.ได้ให้คำนิยามเดียวกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนด

3. หน่วยงานกำกับอย่างธปท.ต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ทางการเงินและกำหนดนโยบายต่างๆแก่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

4. เมื่อเกิดปัญหาและต้องแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาธปท.และสถาบันการเงินได้ร่วมกันแก้ไขออกมาตรการ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากเดิมที่มาการพักหนี้ซึ่งเป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดมาตรการพักหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ต้องกลับมาชำระหนี้เหมือนเดิม และจะมีกระบวนการไกล่เกลี่ย เจรจาลูกหนี้ก่อนที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

5. ธปท.อยากเห็นการรวมศูนย์ข้อมูลลูกหนี้ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะมีหน่วยงานต่างๆเช่น เครดิตบูโรแล้วก็ตาม และทุกวันนี้ข้อมูลลูกหนี้ยังกระจาย และล่าช้าในเรื่องการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหากมีข้อมูลูกหนี้ที่รวมศูนย์จะทำให้สถาบันการเงินเห็นข้อมูลได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการปล่อยกู้แก่ลูกหนี้ เช่น คนไม่มีรายได้ประจำ อย่างการใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ แต่ต้องดูเรื่องกฎระเบียบ การยินยอม และข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆด้วย โดยขณะนี้มีหลายทางเลือกอาจเป็นการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ หรือใช้หน่วยงานเดิมก็ได้แล้วแต่อุปสรรคของกฎหมาย

“เรื่องหนี้เสียที่ผ่านมาไม่ได้เพิ่มมากขึ้น จากการปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรการต่างๆ และหลังจากนี้หนี้เสียจะไม่ได้ขึ้นมาก แต่จะเป็นทยอยปรับเพิ่ม มั่นใจสถาบันการเงินสามารถจัดการได้ ส่วนการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเจวีเอเอ็มซี เริ่มทยอยเข้ามาหวังในปีนี้จะเกิดขึ้นได้”

นางสุวัธนา รัศมีโรจน์วงศ์ ผู้บริหาร โครงการคลินิกแก้หนี้ กล่าวว่า หลังจากปรับเงื่อนไขเปิดรับสมัครคนเข้าโครงการต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 เม.ย.65 จากเดิมก่อน 1 ต.ค.64 ปรากฎว่ามีผู้สมัครเข้ามา 2-3 เท่าเพียงแค่ 1 สัปดาห์ และยังอยู่ระหว่างคุยกับธปท.ขยายความช่วยเหลือลูกหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มเติม มีวิธีทั้งรูปแบบการปรับโครงสร้างอาจมีความหลากหลายมากขึ้น การผ่อนระยะยาวที่ยังต้องศึกษา ปัจจุบันมีผู้มาสมัครโครงการคลินิกแก้หนี้ 2-3 แสนบัญชี ได้เข้าร่วมแล้ว 8 หมื่นบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 6,000 ล้านบาท และยังมีเอ็นพีแอลไม่เข้าโครงการอีกมาก เพราะเป็นคนที่จ่ายขั้นต่ำและเอ็นพีแอลหลัง 1 ต.ค.64