posttoday

JCB เผยพฤติกรรมการใช้บัตรเปลี่ยนไป เน้นไร้การสัมผัสมากขึ้น ปรับกลยุทธ์รับเทรนด์ลูกค้าออนไลน์

12 มีนาคม 2565

JCB พลิกกลยุทธ์ธุรกิจบัตร รับไลฟ์สไตล์ลูกค้าเปลี่ยนไปลดกินข้าวร้านอาหาร หันช้อปออนไลน์มากขึ้น หนุนรายได้ปีก่อนเติบโตกว่า 16 % เ

นายเรียว โมริตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิต JCB  เปิดเผยว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ Covid-19 ว่า หมวด “ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และการใช้จ่ายเชิงสัมผัส” ยังคงเป็น 3 หมวด ลำดับต้น แต่ช่วงระหว่างการระบาดของโควิด-19 นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความต้องการที่ลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำให้ลูกค้าใช้เวลาส่วนใหญ่ หรือเวลาเกือบทั้งหมดอยู่ที่บ้านกับครอบครัว โดยปัจจุบัน ลูกค้าเลือกใช้การซื้อของออนไลน์ การจัดส่งอาหาร และกิจกรรมการชำระเงินในรูปแบบที่ไม่ต้องสัมผัส หรือไร้การสัมผัสมากยิ่งขึ้น 

สอดคล้องกับปัจจุบันด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้บริษัทเน้นการทำการตลาดในต่างประเทศน้อยลง และมีการวางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นการทำโปรโมชั่นเพิ่มเติมภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของหมวด ช้อปปิ้งออนไลน์ การส่งอาหาร บริการการชำระเงินแบบไร้สัมผัส และส่วนอื่นๆ แทน

“ความสนใจของลูกค้าบัตรเครดิต JCB ช่วงก่อนหน้าโควิด-19 กับระหว่างสถานการณ์โควิด ผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมากในส่วนของการรับประทานอาหารที่ร้าน ปรับเปลี่ยนเป็นการทำกิจกรรม อื่นๆ ทดแทน เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์ ช้อปปิ้งที่ซุเปอร์มาร์เก็ตและการเลือกซื้อของแต่งบ้าน"นายเรียว กล่าว  

อย่างไรก็ตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เลือกใช้โดยรวมยังคงมีส่วนคล้ายกับยุคก่อนโควิด-19 แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ การเลือกใช้วิธีชำระเงินที่เปลี่ยนไป ดังนั้นทาง JCB จึงมีการทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตร เพื่อให้ตอบโจทย์ในส่วนนี้ โดยปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินให้ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

นอกจากนี้ JCB (สำนักงานใหญ่ในโตเกียว) ได้มีจัดตั้งแผนกส่งเสริมและสร้างสรรค์ธุรกิจของอาเซียนในสิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 โดยเปิดตัวธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวต่อไปของเราในพื้นที่อาเซียน ความคิดริเริ่มแรกของหน่วยงานนี้เริ่มต้นด้วยการลงทุนใน Soft Space ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคที่ตั้งอยู่ในมาเลเซีย ใช้งบลงทุนประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้เป็นจุดรับชำระเงินและ solution รูปแบบใหม่ โดยได้รับใบอนุญาตสำหรับการดำเนินการออกบัตร JCB และจัดหาผู้ค้าในมาเลเซีย ให้สามารถใช้อุปกรณ์ Tap on Mobile (ToM) และรวมเทคโนโลยีของ Soft Space เข้ากับธุรกิจของ JCB ในอนาคต เพื่อเพิ่มการบริการให้เกิดประโยชน์กับลูกค้าปัจจุบันของ JCB และขยายธุรกิจของ JCB ไปทั่วทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายเรียว กล่าวว่าผลดำเนินงานบริษัทปี 2264 มียอดขายเติบโตสูงกว่า 16% เป็นผลมาจากการปรับตัวและปรับกลยุทธ์ได้ทันสถานการณ์ โดยยจากในปี 2563-2564 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 55 % แต่ด้วยผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดขายในปี 2563 ลดลงไป 7% เมื่อเทียบกันกับปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ทาง JCB ได้ปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมตรงความต้องการกลุ่มลูกค้าในไทย และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคและลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิต JCB จึงทำให้ยอดขายกลับมาเพิ่มขึ้นกว่า 16% ซึ่งกลับมามากกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19สำหรับด้านจำนวนผู้ถือบัตรในปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 8 % แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นนั้นยังเป็นอัตราที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

โดยในส่วนของยอดขายมีปริมาณลดลงในปี 2563  จากสถานการณ์โควิด แต่กลับมาดีดตัวสูงกว่าปี 2562 ทำให้ยอดของการใช้จ่ายต่อบัตรนั้นไม่เปลี่ยนแปลงมาก