posttoday

รัฐบาล"บิ๊กตู่"กู้เงินสนั่นเมือง หนี้ท่วมการคลังประเทศสาหัส

05 มกราคม 2565

กู้แล้วกู้อีกจนนับไม่ถ้วนไล่ตามไม่ทัน จนประเทศไทยจมกองหนี้นับล้านล้านบาท ในช่วงการบริหารของรัฐบาลบิ๊กตู่

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ล่าสุดเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ต้องกู้เพื่อชดเชยขาดดุลอีก 695,000 ล้านบาท ซึ่งเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้หากเทียบกับงบประมาณ 2565 ที่ใช้อยู่วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ต้องกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 700,000 ล้านบาท เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน

จะเห็นว่า การกู้เพื่อการขาดดุลในปีงบประมาณ 2566 ขาดดุลลดลงเพียง 5,000 ล้านบาท ซึ่งแทบไม่นัยที่สำคัญว่าการกู้เพื่อการขาดดุลงบประมาณลดลงแล้ว แล้วความหวังที่ประเทศจะทำงบประมาณแบบสมดุลได้แทบมองไม่เห็น

หากไล่เรียงตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ รัฐบาลบิ๊กตู่ เข้ามาบริหารเศรษฐกิจของประเทศปลายปี 2557 และเริ่มทำงบประมาณการบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2558 จนล่าสุดเห็นชอบกรอบงบประมาณ 2566 รวมเป็น 9 ปีงบประมาณที่รัฐบาบบิ๊กตู่ทำคลอด และเป็นงบประมาณ ที่ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลทุกปี รวมกันเป็นหนี้ที่กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลกว่า 5 ล้านล้านบาท

รัฐบาล"บิ๊กตู่"กู้เงินสนั่นเมือง หนี้ท่วมการคลังประเทศสาหัส

การกู้ดังกล่าว จะเห็นว่าในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลยังเดียวปิดหีบงบประมาณไม่ได้ ต้องมีการขอกู้เพิ่มกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้อีกละมากกว่าแสนล้านบาท

นอกจากนี้ หากนับรวมการออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อเยียวยาฟื้นฟูที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 จำนวน 1 ล้านล้านบาท และในปี 2564 อีกจำนวน 5 แสนล้านบาท

เมื่อรวมเงินกู้ก้อนใหญ่แค่นี้ รัฐบาลบิ๊กตู่ก่อหนี้ให้ประเทศสูงถึง 6.5 ล้านบาท เป็นอย่างน้อยภายในปีงบประมาณ 2566 ที่บอกว่าอย่างน้อย เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินใหญ่เพื่อสู้กับโควิดโอมิครอนที่กลับมาแพร่ระบาดทั่วไทยอย่างรวดเร็วอีกครั้ง จนกระทบเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นจากโคม่า กลับลงไปอาการหนักหาทางได้ยากอีกครั้ง

การกู้เงินในช่วงกว่า 7 ปี ของรัฐบาลบิ๊กตู่ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2557 ที่รัฐบาลบิ๊กตู่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 5.69 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 43.33% ต่อจีดีพี ล่าสุด 9.62 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 59.58% ต่อจีดีพี จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาลบิ๊กตู่ก่อหนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง

การกู้เงินไม่ใช่เรื่องผิด หากกู้มาแล้วทำให้เศรษฐกิจขยายตัว สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลง แต่การบริหารการคลังของประเทศของรัฐบาลบิ๊กตู่กับสวนทาง กู้มาใช้ไปไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้น มีมูลค่าของจีดีพีมากขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนทะลุเพดาน 60% ต่อจีดีพี และต้องขยายเพดานเป็น 70% ของจีดีพี เพื่อรองรับการกู้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหยุดไม่อยู่

ภาวะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การใช้เงินกู้ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น ในรอบหลายปีที่ผ่านมากู้เงินไปแล้วกว่า 6 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่ำมูลค่าของจีดีพีไม่ได้เพิ่มขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลบิ๊กตู่เสี่ยงอย่างสูง ที่ต้องตกดิ่งจมเหวหนี้ลึกลงเรื่อยๆ จนไม่เห็นหนทางที่จะขึ้นมาพ้นจากก้นเหวแห่งกองหนี้อันใหญ่โตที่รัฐบาลยังก่อหนี้อย่างต่อเนื่องไม่เห็นวี่แววว่าจะกู้น้อยลงหรือลดลงแต่อย่างไร ทำให้การคลังของประเทศเสี่ยงแสนเสี่ยงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน