posttoday

เร่งรัฐบาลกระตุ้นศก.เพิ่ม หวั่นปีหน้าโตติดลบ

06 ธันวาคม 2564

นักวิชาการเสนอรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มสู้พิษโอไมครอน กลัวทำช้าเศรษฐกิจปีหน้าทรุดถึงโตติดลบ

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 โอไมครอน ของโลกและประะเทศไทย ยังไม่มีใครรู้แน่นอนว่าโอไมครอนมีความรุนแรงขนาดไหน แต่อย่างไรก็ตามการระบาดของโอไมครอน กระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน จะน้อยหรือมากเท่านั้น โดยแบ่งได้เป็น 4 กรณี โดยต้องประเมินโอไมครอนที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจก่อน ที่จะประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ

กรณีที่ 1 กรณีเลวร้ายสุด มีการระบาดของโควิด-19 โอไมครอนไปทั่วโลก จนต้องเกิดการล็อกดาวน์และปิดประเทศต่างๆ ในโลกจำนวนมาก จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้า 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5% จะขยายตัวได้ลดลงเหลือ 1-2% หรือถึงขั้นขยายติดลบ

กรณีที่ 2 โควิด-19 โอไมครอน ทำให้เศรษฐกิจทดถอยอย่างรุนแรง แต่เงินเฟ้อไม่ยอมลง เพราะการผลิตหยุดชะงักจากการระบาด ทำให้ราคาสินค้ายังแพง จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้น้อยกว่าประมาณการมาก

กรณีที่ 3 โควิด-19 โอไมครอน ไม่ได้รุนแรงกว่าการระบาดมากนัก จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายลดน้อยกว่าเดิมอยู่ที่ 2-3%

กรณีที่ 4 โควิด-19 โอไมครอน มีความรุนแรงเท่ากับสานพันธุ์เดลต้า ก็จะกระทบกับการท่องเที่ยวของโลกบ้าง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงไม่มากจากที่ประมาณการไว้

ดร.สมชาย กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยที่จะได้ผลกระทบจาก โควิด-19 โอไมครอน หากคิดจากกรณีที่ 1 และ 2 ที่โควิด-19 โอไมครอน กระทบกับเศรษฐกิจโลก ก็จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยรุนแรง ทั้งการส่งออกที่เดิมว่าจะขยายตัวได้ 6% ก็จะขยายตัวไม่ถึง ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังได้รับผลกระทบ ทำให้เศรษฐกิจที่คาดว่าปีหน้า 2565 ขยายตัวได้ 3.5-4.5% อาจขยายตัวติดลบได้

หากเป็นกรณีที่ 3 และ 4 คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบบ้าง และเศรษฐกิจปีหน้า 2565 ขยายตัวได้ 1-2% ยังต่ำกว่าประมาณที่คาดไว้

ดร.สมชาย กล่าวว่า ผลกระทบโควิด-19 โอไมครอน กับเศรษฐกิจปีหน้า 2565 ที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นและเบาเทาประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เร่งด่วนในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่งเพิ่มเติม เพราะเป็นมาตรการทำหน้าที่บรรเทาให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องจ่ายเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมทั้งมาตรา 33 39 และ 40 เพิ่มเติม ถึงแม้ว่าเป็นมาตรการบรรเทาไม่ได้ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีความจำเป็นในที่ต้องดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565

"โควิดส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยปี 2563 ขยายตัวติดลบ 6.1% ปีนี้คาดว่าขยายตัวได้ 1.2% ต่ำกว่าที่คาดไว้ และปีหน้าเศรษฐกิจไทยได้รับผกระทบจากโควิดโอไมครอนอีกโตได้ต่ำกว่าประมาณการ หากไม่เลวร้ายมากคาดว่าจะโตได้ 1-2% ทำให้ต้องเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คิด ต้องรอถึงปี 2566 หรือ 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวกลับมาเหมือนเดิมก่อนเกิดการระบาดของโควิด ดังนั้นระหว่างนี้รัฐบาลยังจำเป็นต้องออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและทำให้เศรษฐกิจไทยขยายปีหน้าขยายเป็นบวกต่อไปได้ หากไม่ทำอะไรเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวติดลบได้" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลยังสามารถใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะมีการขยายเพดานก่อหนี้สาธารณะจากไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี ยังมีเงินกู้จากพ.ร.ก.แก้ปัญหาโควิด 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลืออีก 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลควรใช้เงินที่มีอยู่ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด ไม่ได้ใช้แจกเงินไปเปล่าๆ และไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ