posttoday

ถังไม่แตก แต่เงินไม่มี เศรษฐกิจลุงตู่หวังฟื้นยาก

25 พฤศจิกายน 2564

การขยายเพดานเงินกู้ถี่ยิบเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนผวาไปกับการบริหารงานของรัฐบาลบิ๊กตู่จะเอาเศรษฐกิจประเทศอยู่ไหม

เปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนได้น้ำทิพย์ชโลมใจให้พอมีหวัง ได้เห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมงค์

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศ ก็ยังหวังอะไรไม่ได้เต็มหัวอกหัวใจ เพราะประเทศไทยเคยพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศปีละ 40 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 2 ล้านล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 2 แสนคน มีรายได้ 1.2 แสนล้านบาท ห่างกันเทียบไม่ได้เหมือนเรือรบกับไม่จิ้มฟัน

หรือแม้แต่ปีหน้าคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 4.4 แสนล้านคน ก็ยังห่างจากที่เคยได้ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่ต้องล้มหายตายจากไปอีกมาก เพราะหมดตัวเสียก่อนที่การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาปกติ

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ก็ยังเจอปัญหาประเทศถังร้าว แม้ว่ารัฐบาลจะออกมายืนยันว่าถังไม่แตก แต่ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐบาลมีเงินเหลืออยู่ในถัง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลหมดเงินชักหน้าไม่ถึงหลังให้เห็นอยู่เป็นประจำ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี หลังจากที่ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 ครั้ง วงเงินกู้รวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้เพดานหนี้จะทะลุเพดานในอนาคตอันใกล้

เงินกู้ก้อนดังกล่าวปัจจุบันใช้เหลืออยู่ 2.5 แสนล้านบาท คาดว่ารัฐบาลใช้ได้อีกไม่กี่โครงการเงินกู้ก็จะต้องหมดลง และต้องมีการออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพิษโควิดทำให้เศรษฐกิจไทยภายใน 1-2 ปี นี้ ยังอยู่อาการโคม่าสาหัสต้องประเมินอาการวันต่อวัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องขยายเพดานการกู้เงินของกองทุนน้ำมันจาก 2 หมื่นล้านบาท เป็น 3 หมื่นล้านบาท เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งประเมินกันว่าหากราคาน้ำมันโลกไม่สวิงขึ้นไปมากกว่านี้ เงินดังกล่าวจะใช้พยุงราคาน้ำมันดีเซลได้ถึงต้นปีหน้า และอาจจะต้องขอขยายเพดานการกู้อีก หากราคาน้ำมันผันผวนสูงขึ้น

ล่าสุด รัฐบาลบิ๊กตู่ ขยายเพดานภาระเงินที่ต้องจ่ายให้กับแบงก์รัฐในอนาคตจากไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เป็น 35% เพื่อจะได้มีช่องกู้เงินได้อีก 1.5 แสนล้านบาท ไปจ่ายให้กับโครงการประกันรายได้ โดยเฉพาะโครงการกันราคาข้าวให้กับชาวนาที่รอเงินจากรัฐบาล ได้เงินช้าเพราะรัฐบาลไม่มีเงิน

ภาระเงินที่ต้องจ่ายให้กับแบงก์รัฐในอนาคต พูดภาษาชาวบ้านก็คือ รัฐบาลไปยืมเงินแบงก์รัฐมาใช้ก่อน หากนำวงเงินงบประมาณปี 2565 ล่าสุด 3.1 ล้านล้านบาท มาเป็นฐานคิด จะพบว่า รัฐบาลยืมเงินจากแบงก์รัฐมาใช้ก่อนได้ไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาท ซึ่งเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ต้องขยายเพดานทำให้กู้ได้อีก 1.5 แสนล้านบาท หมายความว่ารัฐบาลจะเป็นหนี้แบงก์รัฐกว่า 1 ล้านล้านบาท

เงินที่ไปยืมแบงก์รัฐมาใช้ก่อนไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ โดยหนี้สาธารณะของไทยล่าสุดอยู่ที่ 9.3 ล้านล้านบาท หรือ 58% ของจีดีพี ยังไม่นับรวมกับเงินที่ต้องกู้เพื่อชดเชยขาดดุลปีงบประมาณ 7 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก.เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูจากพิษโควิดอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศจริงปีนี้ไม่ต่ำกว่า 11 ล้านล้านบาท

หากนับรวมหนี้ที่ไปกู้จากแบงก์รัฐมาใช้ก่อนที่สูงถึง 1 ล้านล้านบาท ประเทศจะมีหนี้ทะลุ 12 ล้านล้านบาท ซึ่งเกิน 70% ของจีดีพี ตามเพดานที่รัฐบาลขยายไว้ล่าสุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะชักหน้าไม่ถึงหลังอย่างไร รัฐบาลก็ไม่มีทางยอมรับว่าเป็นรัฐบาลถังแตกถังรั้วแน่นอน เพราะรัฐบาลใช้วิธีฉีกกระเป๋าประเทศทั้งกระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา กระเป๋าหน้า กระเป๋าหลัง กระเป๋าเล็ก กระเป๋าน้อย ที่มีทุกใบ และเย็บใหม่ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะได้กู้เงินได้เพิ่มมากขึ้นในทุกกระเป๋า มาถมฟื้นฟูเศรษฐกิจให้พ้นจากวิกฤตโคม่านี้ไปให้ได้

ส่วนทำแล้วจะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การกู้มากแล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง ก็จะทำให้มีรายได้กลับมาใช้หนี้คืนได้ แต่ทำไปแล้วเศรษฐกิจไม่ฟื้น ประเทศไทยจะจมกองหนี้สารพัดหนี้จนกลายเป็นวิกฤตรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน

เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลบิ๊กตู่เจอมรสุมทั้งหนี้ประเทศฉุดไม่อยู่ และหนี้ครัวเรือนกู้พุ่งไม่หยุดล่าสุดทะลุ 14 ล้านล้านบาท มีคนตกงานจากพิษโควิดถึง 9 แสนคน เป็นตัวเร่งทำให้นี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น เป็นหนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เสียมากขึ้น กินหางย้อนกลับไปทำให้รัฐบาลลุงตู่กู้เงินมาถมช่วยเยียวยาฟื้นฟู เป็นหนี้กองมหาศาล 2 กอง ที่เป็นระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทยให้เป็นจุณได้ทุกเมื่อ