posttoday

เป๋าตังประเทศวิกฤต เก็บรายได้ต่ำเป้า จ่อกู้ทะลุเพดาน

10 พฤศจิกายน 2564

เอาไม่อยู่ เป๋าตังประเทศรั่วหนัก เก็บรายได้ทรุด หนีไม่พ้นกู้อีกล้านล้านบาท อุดรายจ่ายบานปลาย

เข้าเดือนที่ 2 ของปีงบประมาณ 2565 เท่านั้น ก็ได้เห็นความอ่อนแอการเงินการคลังของประเทศ ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีปัญหาหนักหนาสาหัสชัดเจนมากขึ้นทุกวัน

งบประมาณรายจ่ายปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบแบบขาดดุลต้องกู้เงินชดเชย 7 แสนล้านบาท เรียกได้ว่ากู้เต็มเพดานกฎหมายตามที่ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะกำหนดไว้ คือ การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล หรือ กู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ รวมกันต้องไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย รวมกับ 80% ของต้นเงินชำระเงินกู้

ในงบประมาณ 2563 รัฐบาลตั้งงบแบบขาดดุล 4 แสนกว่าล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ตั้งแบบขาดดุล 6 แสนกว่าล้านบาท แต่รัฐบาลเจอพิษโควิดทำให้การเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าทั้ง 2 ปี โดยในปีงบ 2563 ต่ำกว่าเป้าจำนวน 4 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 ต่ำกว่าเป้า 3 แสนล้านบาท ทำให้เงินประเทศมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังโชคดี ที่ยังมีช่องกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ในปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 2 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.2 แสนล้านบาท มาปิดหีบงบประมาณแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้

สำหรับปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลไม่สามารถทำได้เหมือน 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา เพราะตั้งกู้ขาดดุลก็เต็มเพดานกฎหมายแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลเก็บรายได้ยังไม่เข้าเป้า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีทางออกเดียว คือ การออก พ.ร.ก.กู้เงินมาปิดหีบงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

หากพิจารณาดูแล้วเห็นว่า ภาคการเงินการคลังของประเทศ อยู่ในภาวะถังร้าว รายได้ไม่พอกับรายจ่าย สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องกู้เงินมาอุดถังเงินของประเทศที่ร้าวอย่างหนัก

ที่ผ่านมา รัฐบาลกู้เงินจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผกระทบจากโควิด-19 จนต้องแก้กฎหมายขยายการก่อเพดานหนี้จากไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี

ล่าสุดกระทรวงการคลังรายงานหนี้สาธารณะของประเทศไทย สิ้นเดือน ก.ย. 2563 หรือ สิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 9.33 ล้านล้านบาท หรือ 57.98% ของจีดีพี ยังไม่รวมกับการชัดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2565 จำนวน 7 แสนล้านบาท และการกู้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ยังเหลือเหลือต้องกู้อีกประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

นั้นหมายความรัฐบาลต้องกู้เงินตามภาระที่กำหนดไว้แล้วตามกฎหมายในปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศทะลุ 10 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนจะทะลุเกิน 60% ต่อจีดีพีไปไม่น้อย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การก่อหนี้ของประเทศไม่น่าจะหยุดอยู่แค่นี้ เนื่องจากรายได้ของประเทศมีปัญหาต่ำกว่าเป้าหมายมา 2 ปีติดต่อกัน และในปีงบประมาณ 2565 ก็ยังเชื่อว่าจะเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายอีกนับแสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยเฉพาะภาษีสรรรสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เนื่องจากราคาน้ำมันแพงขึ้นมาก ซึ่งหากต้องลดภาษีเพื่อทำให้ราคาน้ำมันถูกลงจริงจะทำให้การเก็บภาษีของประเทศหายไปอีกนับแสนล้านบาท

ล่าสุดยังมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาจ่ายโครงการประกันภัยพืชผลฤดูกาล 2563/64 โดยเฉพาะการจ่ายเงินประกันราคาข้าวที่ตกต่ำอย่างมาก โดยการมีตั้งงบจ่ายประกันราคาข้าวไว้ประมาณ 8.93 หมื่นล้านบาท มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท โดยให้การใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปก่อน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีปัญหา

แต่ทว่าในส่วนที่เหลือ 7.6 หมื่นล้านบาท จะมีปัญหาถึงทางตัน เพราะรัฐบาลจะใช้เงินจาก ธ.ก.ส. ออกไปก่อนไม่ได้แล้ว เพราะติดกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดว่าการกู้เงินสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ แบงก์รัฐ เพื่อดำเนินโครงการของรัฐรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ต้องไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาท ซึ่งสัดส่วนนี้เต็มเพดานแล้ว

ดังนั้น ทำให้รัฐบาลวิ่งวุ่นหาเงินจากโครงการอื่นมาโป๊ะโครงการประกันรายได้ข้าวที่เป็นสัญญาใจที่สำคัญทางการเมือง ไม่สามารถเบี้ยวให้เสียคะแนนเสียงได้

นอกจากนี้ การเงินการคลังของประเทศ ยังถูกรุมเร้าจากพิษโควิด-19 ไม่หาย คาดว่า การออก พ.ร.ก. กู้เงินมาเยี่ยวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจรวมกันที่ผ่านมา 1.5 ล้านล้านบาท ยังไม่พอ ต้องมีการกู้เพิ่มอีก ซึ่งมีการคาดว่าต้องกู้อีกไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท หรือ 1 ล้านล้านบาท

ทั้งหมดจะเห็นว่า ฐานะการเงินการคลังของประเทศ อาการสาหัสชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินขาดมือเพราะหารายได้ต่ำกว่าเป้า ทำให้ต้องกู้แล้วกู้อีกมาปะผุถังเงินของประเทศที่ร้าวอย่างหนักรอบถัง

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า ในปีนี้รัฐบาลจะต้องออก พ.ร.ก. กู้เงินอีก ทั้งการกู้เงินมาปิดหีบงบประมาณจากการเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย การกู้มาชดเชยภาษีน้ำมันหากมีการลดภาษีตามคำเรียกร้อง การกู้มาเพื่อจ่ายเงินประกันรายได้ให้เกษตรกร ที่ไม่สามารถไปขอล้วงใช้จากกระเป๋าเงินของแบงก์รัฐได้อีกต่อไป รวมถึงการกู้เพื่อมาเยียวยาจากผลกระทบจากโควิด-19

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะไม่ได้กู้เงินแค่ 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่จะมากกว่านั้นแน่นอน จะเป็น 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 2 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่รอไม่นานได้รู้กัน และต้องลุ้นว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศที่ขยายไปเป็น 70% ของจีดีพีจะเอาอยู่หรือไม่

สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องถูกโจมตีอย่างหนัก ว่าเป็นรัฐบาลถังร้าวเงินไม่มี เงินหมดตัว แก้ปัญหาไม่เป็นได้แต่กู้แล้วกู้อีก จนหนี้ของประเทศสูงทำลายสถิติสูงที่สุดกว่าทุกรัฐบาลที่เคยมีมา