posttoday

นักวิชาการผิดหวังโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่

04 พฤศจิกายน 2564

นักวิชาการผิดหวังโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เสนอใช้ภาษีอัตราเดียวในอีก 3 ปีข้างหน้า

ศ.ดร. อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ภายหลังที่การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ได้ประกาศปรับราคาบุหรี่เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีใหม่ โดยการปรับขึ้นราคาบุหรี่ของ ยสท. นั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ เพื่อรักษากำไรที่มีน้อยอยู่แล้วให้อยู่เท่าเดิม ในขณะที่ผู้นำเข้าบุหรี่ได้ทยอยแจ้งราคาบุหรี่ใหม่ไปยังกรมสรรพสามิตและประกาศราคาขายใหม่กันแล้ว นั้น

ทั้งนี้ เมื่อได้อ่านข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เข้าใจว่าเหตุผลที่ยังคงโครงสร้างภาษีมูลค่า 2 อัตราไว้ ก็เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ในขณะที่ปรับขึ้นภาระภาษีเพื่อลดการบริโภคยาสูบ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดเดิม ๆ ที่กรมสรรพสามิตใช้มาตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษียาสูบในปี 2560 คือ การใช้โครงสร้างภาษีหลายอัตราเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ และใช้การปรับขึ้นอัตราภาษีในระดับที่สูงเพื่อลดเสียงต่อต้านจากผั่งรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่จากการไม่ปรับไปใช้ภาษีอัตราเดียวที่เดิมเคยกำหนดไว้ที่ระดับ 40%

หากพิจารณาความสมดุลใน 4 ด้าน ที่กรมสรรพสามิตใช้เป็นกรอบในการทำนโยบายครั้งนี้ ได้แก่ รายได้รัฐ สุขภาพ อุตสาหกรรมยาสูบ และบุหรี่เถื่อน ศ.ดร. อรรถกฤต ให้ความเห็นว่า “นโยบายภาษีบุหรี่ใหม่อาจช่วยสนับสนุนรายได้ภาษียาสูบและนโยบายด้านสุขภาพได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะแม้บุหรี่ขายดีในตลาดต้องปรับขึ้นจาก 60 บาท เป็น 66 บาทต่อซอง เพิ่มขึ้น 6 บาทต่อซอง จนทำให้ภาระภาษีต่อซองเพิ่มขึ้นจาก 79% ถึง 81% และสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก แต่ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการหันไปสูบสินค้าทดแทนราคาถูกกันเพิ่มขึ้น เช่น ยาเส้น ที่ยังเสียภาษีในอัตราที่ต่ำมากและมีอันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยไปกว่าบุหรี่ ขณะเดียวกันก็ไม่น่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยาสูบในประเทศ เพราะโครงสร้างภาษีมูลค่า 2 อัตรา ยังคงเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมาแข่งขันราคากันในกลุ่มตลาดล่างที่เสียภาษีต่ำกว่าเช่นเดิม ทำให้การยาสูบฯ ซึ่งยังคงเจอการแข่งขันราคาในตลาดล่างอย่างหนัก ต้องยอมลดกำไรต่อซองลง ปรับราคาของบุหรี่ขายดีที่เดิมมีราคา 60 บาทนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 6 บาท แทนที่จะต้องปรับขึ้นไปเป็น 68 บาท เพื่อให้ได้กำไรเท่าเดิมภายใต้ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลประกอบการของการยาสูบฯ ในระยะต่อไปคงน่าเป็นห่วง”

“รู้สึกผิดหวังกับการปรับโครงสร้างบุหรี่ครั้งนี้ เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่ได้เป็นการปรับโครงสร้าง แต่เป็นการปรับขึ้นภาษีภายใต้โครงสร้างเดิมที่มีปัญหาและต้องแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่แนะนำโดยองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ คือ 1) ควรใช้ภาษีอัตราเดียว แต่รัฐยังคงเลือกที่ใช้ภาษี 2 อัตราต่อไป และไม่มีการกำหนดแผนภาษีในการรวมอัตราภาษีเป็นอัตราเดียวให้ชัดเจน ดังเช่นตัวอย่างที่ดีในต่างประเทศ เช่น ฟิลิบปินส์ 2) ควรปรับเพิ่มภาษีปริมาณเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่าภาษีมูลค่า แต่รัฐยังคงปรับเพิ่มขึ้นอัตราภาษีมูลค่าในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษีปริมาณ ทำให้สัดส่วนภาษีปริมาณลดลงจาก 55% เหลือ 50% เท่านั้น ซึ่งเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลดกำไรหรือลดราคาบุหรี่ลง ซ้ำร้ายยังแบ่งอัตราภาษีตามมูลค่าเป็น 2 อัตราอีกยิ่งกระตุ้นการลดกำไรหรือลดราคากันมากขึ้น และ 3) ควรปรับเพิ่มอัตราภาษียาเส้นให้เท่ากับอัตราภาษีบุหรี่ แต่รัฐกลับกำหนดอัตราภาษียาเส้นแบบ 2 อัตราเช่นเดียวกับบุหรี่ไว้แบบถาวรจากเดิมที่ต้องมาขอผ่อนผันเสียภาษียาเส้นในอัตราที่ต่ำกว่าปกติจากคณะรัฐมนตรีแบบปีต่อปี โดยกรมสรรพสามิตให้เหตุผลว่า เพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านโดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายจากยาเส้นที่ไม่น้อยไปกว่าบุหรี่ จนกลับกลายเป็นว่า ทั้งบุหรี่และยาเส้นมีการใช้ภาษี 2 อัตรา ยิ่งส่งผลให้โครงสร้างภาษีมีความซับซ้อนและไม่เป็นไปตามหลักสากลยิ่งขึ้นไปอีก” “เป็นห่วงแนวคิดและหลักการที่ใช้ในการกำหนดนโยบายภาษียาสูบของกระทรวงการคลังในครั้งนี้ หากยังคงใช้แนวคิดแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เราอาจเห็นการพัฒนาโครงสร้างภาษียาสูบไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับตัวอย่างที่ดีที่มีประสิทธิภาพในต่างประเทศ และจะส่งผลต่อนโยบายการควบคุมการบริโภคยาสูบในระยะปานกลางและระยะยาวของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงหวังว่ากระทรวงการคลังจะได้ปรับโครงสร้างภาษียาสูบเข้าสู่ระบบอัตราเดียวในอีก 3 ปีหลังจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความสมดุล 4 ด้านตามที่ได้กล่าวไว้”