posttoday

ธปท. แจงเอสเอ็มอี หวังพึ่ง พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ อย่างเดียวไม่ได้

28 พฤษภาคม 2564

ธปท. แจงสภาฯ ช่วยเอสเอ็มอี หวังพึ่ง พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ 3.5 แสนล้านบาท อย่างเดียวไม่ได้

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อที่ 27 พ.ค. 2564) ว่า พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ 3.5 แสนล้านบาท จะช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากการการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจปี 2463 ถึง 6.1% เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ที่ผ่านมา ธปท. ออก พ.ร.ก.ฟื้นฟู 5 แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน โดยประเมินว่าโควิดจะคลี่คลายได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง และ พ.ร.ก. ซอฟต์โลนเดิม มีปัญหา ธปท. จึงออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ ใหม่ 3.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ 1 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการฟื้นฟูนี้ อาจไม่เหมาะกับทุกกลุ่มลูกหนี้ จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ด้วย หลังจากที่ ธปท. ได้เริ่มเปิดให้สถาบันการเงินยื่นคำขอรับสภาพคล่อง เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 มียอดสินเชื่อฟื้นฟูที่ปล่อยแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 15,855 ล้านบาท เป็นลูกหนี้จำนวน 6,611 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อราย โดยการปล่อยสินเชื่อในช่วงแรกนี้ ยังค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นโครงการใหม่ ต้องใช้เวลาหารือรายละเอียดเป็นรายกรณี โดยปัจจุบัน มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 910 ล้านบาท จากลูกหนี้ 4 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรม และลูกหนี้หลายรายอยู่ระหว่างการหารือ กับสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการจะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขและรายละเอียดเป็นรายกรณี ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าสินเชื่อฟื้นฟูในการได้ข้อสรุป

"การพึ่งพากลไกของสถาบันการเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ พ.ร.ก. นี้ จึงได้ออกแบบให้เพิ่มกลไกสภาพคล่องจาก ธปท. และการค้ำประกันจาก บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ที่เสี่ยงได้มากขึ้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นอกจากนั้น ธปท. ติดตามและดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท. ได้ออกประกาศและกฎเกณฑ์เป็นแนวปฏิบัติให้กับสถาบันการเงิน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ด้วย