posttoday

ธ.เกียรตินาคินภัทร รับโควิด-19 ระลอกสาม

27 พฤษภาคม 2564

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร พร้อมรับโควิด-19 ระลอกสาม พาลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤต

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัย KKP Research มองว่าแม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นจากนโยบายวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ แต่การจัดหาและกระจายวัคซีนที่จำกัดยังเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่อาจทำให้มีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง และกระทบการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยหากประเมินจากแผนจัดหาวัคซีนในปัจจุบัน การมีภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศน่าจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2565 แล้ว ดังนั้น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จึงมุ่งปรับตัวเพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว

“ในสภาวะวิกฤต การจัดสรรทรัพยากรผ่านระบบการเงินได้โดยไม่ติดขัดถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารจึงมุ่งปรับตัวในหลายมิติเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ภายใต้กรอบความคิด ‘We DO – We CARE – We SHARE’ โดย We DO คือการมุ่งมั่นพัฒนาบริการของธนาคารเองให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก และปลอดภัยที่สุด We CARE คือการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าอย่างเหมาะสมและเข้าใจในสถานการณ์ และ We SHARE คือการจัดสรรทรัพยากรเงินทุน อุปกรณ์หรือบุคลากรเพื่อสนับสนุนภาคสังคมโดยรวมในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤต” นายอภินันท์กล่าว

นอกจากนั้น นายอภินันท์ได้ขยายความถึงมาตรการในแต่ละส่วน ดังต่อไปนี้

1. WE DO: ธนาคารเกียรตินาคินภัทรได้ร่วมกับภาครัฐและองค์กรพันธมิตรพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และลดความเสี่ยงจากการออกจากบ้านหรือการเดินทาง เช่น บริการเปิดบัญชีผ่านแอป KKP Mobile โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา บริการตรวจข้อมูลเครดิตบูโรผ่านแอป KKP Mobile แบบเรียลไทม์ หรือการให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ KKP Start Saving บน True Money Wallet เพื่อรับผลตอบแทนโดยไม่สูญเสียความคล่องตัวในการใช้จ่าย

นอกจากนั้น ในด้านการบริการผ่านทางช่องทางสาขา ธนาคารได้สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าผ่านการดำเนินการตามมาตรฐานขั้นสูงสุดในทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเชื้อและรักษาสุขอนามัยของพื้นที่ การคัดครองความเสี่ยงของพนักงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าหรือบุคคลภายนอก นโยบายการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (WFH) และแบ่งทีม A/B ตลอดจนการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดกลุ่มฉีดวัคซีนให้แก่พนักงาน

2. We CARE: ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยสำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ธนาคารได้ออกมาตรการลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ หรือการพักชำระค่างวด รวมถึงการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ เป็นรายกรณี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละคนมากที่สุด และสามารถกระจายทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ครอบคลุมที่สุด

ในขณะที่สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารก็มีการปรับใช้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ครอบคลุมการลดค่างวด , การขยายระยะเวลาชำระหนี้ , การพักชำระค่างวด) มาตรการซอฟต์โลน มาตรการชะลอชำระหนี้ตามพระราชกำหนด (Loan Payment Holiday) รวมทั้งกำลังเริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) ตามสถานการณ์และความจำเป็นของลูกค้าแต่ละรายอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในทุกประเภทสินเชื่อคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร

3. We SHARE: ธนาคารเกียรตินาคินภัทรได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคมแบ่งปันทรัพยากรในด้านเงินทุน บุคลากร และระบบของธนาคาร เพื่อนำไปใช้ดำเนินการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น การบริจาคเงินเพื่อซื้อชุด PPE ให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) การสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลหรือให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 การจัดสรรบุคลากรเพื่อเข้าร่วมทำหน้าที่ Call center ให้กับโครงการ “หมอพร้อม” ตลอดจนการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางของธนาคาร

“ธนาคารเชื่อว่ามาตรการที่ครอบคลุมในหลายด้าน จะช่วยประคับประคองให้ผู้มีส่วนได้เสียของธนาคาร ไม่ว่าลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน องค์กรภาคีต่างๆ ตลอดจนสังคมวงกว้างสามารถเดินหน้าต่อไปได้จนกระทั่งถึงวันที่สถานการณ์ผ่อนคลาย และกลับมาเป็นกำลังของระบบเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง” นายอภินันท์กล่าว

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถติดตามข้อมูลได้จากสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารเกียรตินาคินภัทรทุกช่องทาง ได้แก่ https://bank.kkpfg.com, Kiatnakin Phatra Line Official หรือ KKP Contact Center โทร. 02 165 5555