posttoday

กรุงศรีเดินหน้า เป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้า SME

27 เมษายน 2564

กรุงศรีเดินหน้า เป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้า SME เน้นช่วยเหลือฃต่อเนื่อง ย้ำพอร์ตคุณภาพ

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เผยกลยุทธ์กลุ่มงานลูกค้าธุรกิจ SME ในปี 2564 ยังคงเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME มุ่งเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจแก่ลูกค้าธุรกิจ SME ดำเนินมาตรการต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือ SME พร้อมผสานความร่วมมือกับมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เพื่อต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการลูกค้าธุรกิจ SME ได้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจระดับโลก และประสานประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มภายใต้ห่วงโซ่ธุรกิจและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของลูกค้า นอกจากนั้นยังเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมให้กับลูกค้าด้วยการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้จัดการระบบนิเวศธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา กรุงศรีได้ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ผ่านมาตรการเชิงรุกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 กลุ่มธุรกิจลูกค้า SME สามารถช่วยเหลือลูกค้าธนาคารมากกว่า 28,000 ราย เป็นยอดสินเชื่อกว่า 151,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อในธุรกิจ SME ยังคงเติบโตกว่า 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงแข็งแกร่ง ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ที่ 3.3% ซึ่งปรับลดลงจากปีก่อน สืบเนื่องจากมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ และการบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกรุงศรี และเครือข่ายทั่วโลกของ MUFG ทำให้สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน”

“สำหรับปีนี้ กลุ่มงานธุรกิจลูกค้า SME ขนาดกลางและขนาดเล็กยังคงเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือลูกค้าในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดเตรียมพร้อมสนับสนุน 2 มาตรการใหม่จากธนาคารแห่งประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ) ซึ่งมีแนวโน้มยืดเยื้อและยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน และสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทางธนาคารได้ผสานความร่วมมือกับมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ในการต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการลูกค้าธุรกิจ SME ให้ได้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจระดับโลก และประสานผลประโยชน์ร่วมกันของแต่ละกลุ่มลูกค้าภายใต้ห่วงโซ่ธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของลูกค้า นอกจากนั้นยังเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมให้กับลูกค้าด้วยการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้จัดการระบบนิเวศทางธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร โดยทางกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพในปี 2564 โดยรายได้ค่าธรรมเนียมมุ่งเน้นที่การขายผลิตภัณฑ์ด้วยการบริหารเงินสดให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทธุรกิจและประเภทอุตสาหกรรม โดยสินเชื่อยังคงมุ่งเน้นให้กับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้ลูกค้าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการและเติบโตต่อไปได้

นอกจากบริการทางการเงินที่ครบวงจร กรุงศรียังคงเดินหน้าสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับลูกค้าผ่านบริการ Krungsri Business Empowerment อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งแบ่งปันข้อมูลความรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งช่องทางดิจิทัล ที่ทำขึ้นเพื่อลูกค้าธุรกิจโดยเฉพาะอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก เรามีโปรเจคพิเศษ “THE CHANGE MASTER” ซึ่งได้รับเกียรติจาก 4 ผู้บริหารระดับสูงมาร่วมแบ่งปันแนวคิด มุมมองท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และแนวทางการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนให้ลูกค้าและนักธุรกิจสร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ รับกระแสดิสรัปชั่นและความไม่แน่นอน รวมทั้งจัดกิจกรรมสัมมนาตลอดทั้งปี ซึ่งปีนี้เรายังคงตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ธนาคารจึงเดินหน้าจัดซีรีส์สัมมนาออนไลน์ เจาะลึกเข้มข้นถึง 7 ครั้ง พร้อมยังจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจในทุกๆ ปี ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับลูกค้าธุรกิจของธนาคาร โดยในปีนี้จะอยู่ในรูปแบบออนไลน์เสมือนจริง Krungsri Virtual Business Matching 2021 และ Krungsri-MUFG Virtual Business Matching 2021 ซึ่งจะจัดในเดือนมิถุนายนและธันวาคมตามลำดับ เพื่อเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่าง SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ภายใต้เครือข่ายลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและความน่าเชื่อถือของกลุ่มบริษัทในเครือ MUFG ด้วยกัน ” นางสาวดวงกมลกล่าวเพิ่มเติม